เงินเฟ้อไทยดีขึ้น ผลจากมาตรการรัฐ เพิ่มการใช้จ่าย คาดปี’64 อยู่ที่1.2%

คนละครึ่ง

เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2563 ติดลบน้อยลง 0.41% ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทำให้ทั้งปี 2563 อยู่ที่ ติดลบ 0.87% ผลจากมาตรการรัฐ ราคาสินค้าเกษตรดี ขณะที่ปี 2564 สนค.คาดเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 1.2% ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นโควิด-19

วันที่ 4 ธันวาคม 2563 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 102.19 ลดลง 0.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ที่มีความต้องการทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานยังคงหดตัว แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน นอกจากนี้ สินค้าในกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในหลายพื้นที่

สำหรับสินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ การส่งเสริมการขาย และปริมาณผลผลิต เป็นสำคัญ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อทั่วไปที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) สูงขึ้น 0.18%

อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อทั้งปี 2563 คาดอยู่ที่กรอบ ติดลบ 0.85% ถึง ติดลบ 0.89% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.87% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ในกรอบ ติดลบ 8.6% ถึง ติดลบ 7.6% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ เงินเฟ้อปี 2564 สนค. ประเมินอยู่ที่ อยู่ในกรอบ 1.7-0.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.0-32.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“ผลกระทบที่มีผลต่อเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงติดตามปัจจัยเสี่ยงของโควิด-19 ที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากมีผลต่อการใช้จ่ายและภาคผลิต รวมไปถึงเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ขณะที่มาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายของภาคประชาชน คนละครึ่ง หรือมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายแต่ไม่กระทบเงินเฟ้อต่อราคาสินค้าอย่างไร” นางสาวพิมพ์ชนกกล่าว

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนนี้ฟื้นตัวดีขึ้น ต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่งผลดีต่อ ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และรายได้เกษตรกร ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญ รวมทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่เครื่องชี้ด้านอุปทานมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากการลดลงของสินค้าหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.64% ได้แก่ หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร 4.18% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลง 13.30% ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ ลดลง 0.24% (ค่าทัศนาจร ค่าห้องพักโรงแรม) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลง 0.18% (เสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ต เสื้อยกทรง)

ขณะที่หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้น 0.04% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.08% สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.70% จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 3.85% โดยเฉพาะเนื้อสุกร เนื่องจากการขยายตัวของตลาดส่งออก ผักและผลไม้ สูงขึ้น 7.74% โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้น 17.28% จากการสูงขึ้นของผักสดเกือบทุกชนิด

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 ลดลง 0.04% (MoM) และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.- พ.ย.) ปี 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 0.90% (AoA) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2563 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาและคาดว่าจะยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่น้อยลง โดยสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ราคาน้ำมัน เริ่มทรงตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาสินค้าเกษตรและอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่องตามความต้องการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในภาพรวมเพื่อชดเชยรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

สำหรับความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามีสินค้าปรับสูงขึ้น 1215 รายการ อาทิ เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู มะเขือ พริกสด ต้นหอม กะหล่ำปลี ขิง กล้วยน้ำว้า ข้าวราดแกง สินค้าปรับราคาลดลง 139 รายการ อาทิ แก๊ซโซฮอลล์ 91 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเบนซิน 95 แก๊โซฮอล์ E20 ด๊าซหุงต้ม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มะม่วง และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 68 รายการ