ผงะ! ไทยแพนพบผักผลไม้ 58.7% สารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน

Dragon fruit for dessert,pitaya

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เผยผลการตรวจสอบผักและผลไม้ประจำปี 2563 โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โดยประกอบไปด้วยผลไม้จำนวน 9 ชนิด ประกอบด้วย ส้มโอ ส้มแมนดารินนำเข้า ลองกอง น้อยหน่า แก้วมังกร ฝรั่ง ส้มสายน้ำผึ้ง พุทราจีน และองุ่นแดงนอก ผักจำนวน 18 ชนิด

ประกอบด้วย ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว แครอท ถั่วฝักยาว บร็อกโคลี หัวไชเท้า ผักบุ้ง มะระ กะเพรา กวางตุ้ง ผักชี มะเขือเทศผลเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง และพริกขี้หนู และของแห้ง 2 ชนิด ได้แก่ พริกแห้ง และเห็ดหอม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา (ไม่รวมสารเคมีกำจัดวัชพืช)กว่า 500 ชนิด และได้รับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO17025)

โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้เปิดผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีผักและผลไม้มากถึง 58.7 % ที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ทั้งนี้โดยผักที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุดคือ มะเขือเทศผลเล็ก พริกขี้หนู พริกแดง ขึ้นฉ่าย คะน้า พบตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมดทุกตัวอย่าง (100%) จากที่เก็บมาชนิดละ 16 ตัวอย่าง ผักผลไม้ที่พบการตกค้างรองลงมาได้แก่ กะเพรา (81%) มะระ (62%) ผักบุ้ง (62%) หัวไชเท้า (56%) บร็อกโคลี (50%) ถั่วฝักยาว (44%) แครอท (19%) กระเจี๊ยบเขียว (6%) และหน่อไม้ฝรั่ง (6%) ส่วนมันฝรั่งพบการตกค้างในระดับไม่เกินมาตรฐาน และข้าวโพดหวานไม่พบการตกค้างเลย

ในส่วนของผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดตามลำดับได้แก่ องุ่นแดงนอก (100%) พุทราจีน( 100%) ส้มสายน้ำผึ้ง (81%) ฝรั่ง (60%) แก้วมังกร (56%) น้อยหน่า (43%) ที่พบการตกค้างน้อยได้แก่ ลองกอง (14%) ส้มแมนดารินนำเข้า (13%) และส้มโอไม่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน

สำหรับของแห้งได้แก่เห็ดหอมแห้ง และพริกแห้งนั้น พบการตกค้างในระดับไม่ปลอดภัยมากถึง 94% และ 88% ตามลำดับ

สำหรับแหล่งจำหน่ายเมื่อเปรียบเทียบระหว่างห้างกับตลาดสดทั่วไปนั้น พบว่า ผักและผลไม้จากตลาดทั่วไป พบสารตกค้าง 60.1% ส่วนห้างพบการตกค้างน้อยกว่าเล็กน้อยที่ระดับ 56.7% ทั้งที่โดยส่วนใหญ่จะจำหน่ายผักผลไม้ราคาแพงกว่าตลาดสดทั่วไป โดยในส่วนของตลาดสดทั่วไปนั้นมีการสุ่มตรวจผักจากตลาดทั่วประเทศ 10 จังหวัด ตลาดจังหวัดนนทบุรีมีการพบตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐาน 72.4% และตลาดสดเชียงใหม่ตกค้างน้อยที่สุด 48.3%

สำหรับห้างค้าปลีกและสมัยใหม่นั้น พบว่าห้างค้าปลีกที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด เรียงลำดับได้แก่ แม็คโคร (69%) วิลล่ามาร์เก็ต (65.4%) เทสโก้ (56%) บิ๊กซี (51.7%) กูร์เมต์มาร์เก็ต (51.7%) และท็อปส์ (41.4%)

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN
นางสาวปรกชล กล่าวสรุปว่า “โดยภาพรวมสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ในผักและผลไม้ยังไม่ดีขึ้น ทางไทยแพนกำลังดำเนินการแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์แก่ห้าง และตลาดทั้งหมดเพื่อให้ร่วมแสดงความรับผิดชอบในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

และได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่เข้าร่วมรับฟังการแถลงในวันนี้ด้วยแล้ว เพื่อขับเคลื่อนให้มีการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน และจากการตรวจพบสารเคมีที่แบนแล้ว (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4) จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส เอ็นโดซัลแฟน เมธามิโดฟอส เพ็นตาคลอโรฟีนอล และซัลโฟเท็พ รวมทั้งพบสารนอกบัญชีวัตถุอันตรายอีก 32 ชนิด ซึ่งผิดกฎหมายนั้น จะนำเอกสารนี้เพื่อขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการแก้ปัญหา ”


ทั้งนี้ ข้อมูลผลการตกค้างนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคในการเลือกพืชผักที่ปลอดภัย และร่วมกับเรียกร้องให้ผู้ประกอบการต้องทำงานหนักมากขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฎิรูประบบเฝ้าระวังและการจัดการสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเป็นระบบโดยเร็ว นางสาวปรกชลกล่าว