เปิดลิสต์ 215 สินค้า ขยับราคาขึ้น “หมู – ข้าวแกง” นำโด่ง

ข้าวแกง

เปิดลิสต์ 215 สินค้าขยับราคาขึ้นราคา “หมู-ซี่โครงหมู” นำโด่ง กระทบต้นทุนข้าวแกง สวนทางสินค้ากลุ่มพลังงาน “น้ำมัน-ก๊าซ” ราคาร่วง

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงาน ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพฤศจิกายน 2563 จากการสำรวจโดยกระทรวงพาณิชย์ เพื่อประกอบการจัดทำดัชนีราคาสินค้า 422 รายการ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า มีสินค้าปรับสูงขึ้น 215 รายการ อาทิ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารสด วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร เช่น เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมูมะเขือ พริกสด ต้นหอม กะหล่ำปลี ขิง กล้วยน้ำว้า และเป็นที่น่าสังเกตว่าระดับข้าวราดแกง ก็มีการปรับขึ้นด้วย

ส่วนสินค้าปรับราคาลดลง 139 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าในกลุ่มพลังงาน อาทิ แก๊ซโซฮอลล์ 91 น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเบนซิน 95 แก๊โซฮอล์ E20 ก๊าซหุงต้ม ขณะที่สินค้าเกษตรที่ปรับราคาลดลง ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มะม่วง

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 68 รายการ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2563 เท่ากับ 102.19 ลดลง 0.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการหดตัวในอัตราน้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน

โดนคาดคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2563 จะติดลบ 0.85% ถึง ติดลบ 0.89% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.87% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ในกรอบ ติดลบ 8.6% ถึง ติดลบ 7.6% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ส่วน เงินเฟ้อปี 2564 อยู่ที่ อยู่ในกรอบ 1.7-0.7% ค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ภายใต้สมมุติฐานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 3.5-4.5% น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.0-32.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“ผลกระทบที่มีผลต่อเงินเฟ้อในปีหน้ายังคงติดตามปัจจัยเสี่ยงของโควิด-19 ที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากมีผลต่อการใช้จ่ายและภาคผลิต รวมไปถึงเรื่องของวัคซีนโควิด-19 ขณะที่มาตรฐานกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายของภาคประชาชน คนละครึ่ง หรือมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการใช้จ่ายแต่ไม่กระทบเงินเฟ้อต่อราคาสินค้าอย่างไร”