WTO เปิดประชุมทางไกล ทบทวนนโยบายการค้าและการลงทุนไทย

WTO เปิดประชุมทางไกล

ไทยโชว์ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นโยบาย 4.0 พร้อม EEC หวังช่วยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เวที WTO ชมไทยรับมือโควิดดี – ความสำเร็จการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ด้านการบิน นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ ‘BCG Economy’ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การการค้าโลก (WTO) จัดการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย (Trade Policy Review: TPR) ครั้งที่ 8 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อทบทวนนโยบายการค้าและการลงทุนของไทยในช่วงปี 2558-2562

ซึ่งมีนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (ปฏิบัติราชการประจำที่ส่วนกลาง) เป็นหัวหน้าผู้แทนไทย ร่วมประชุมและกล่าวถ้อยแถลงรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และความสำเร็จของไทยในการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ เช่น การถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ถูกเตือน (ใบเหลือง) ในการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing)

การถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยด้านการบินระหว่างประเทศ (ปลดธงแดง) ของ International Civil Aviation Organisation (ICAO) การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Economy) และการพัฒนาความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เป็นต้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศสมาชิก WTO จำนวน 44 ประเทศ ได้ให้ความเห็นต่อนโยบายการค้าการลงทุนของไทย โดยส่วนใหญ่ชื่นชมไทยที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ และดำเนินนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของไทยเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

แต่ยังคงมีประเทศสมาชิกบางส่วนแสดงความกังวลถึงการปกป้องภาคเกษตรของไทยด้วยมาตรการภาษี รวมถึงมีข้อเสนอแนะในประเด็นที่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น อาทิ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคบริการได้มากขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่มีความซับซ้อน และการปรับปรุงระบบพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ไทยใช้โอกาสนี้ชี้แจงและตอบข้อกังวลต่างๆ ประเทศสมาชิก และยืนยันว่าการดำเนินนโยบายและมาตรการของไทยเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส และสอดคล้องกับความตกลงภายใต้ WTO โดยเน้นการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 การลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายเศรษฐกิจฐานราก และการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนของกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ”

ปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 ประเทศ เป็นเวทีในการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศและลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการค้า โดยการทบทวนนโยบายการค้าเป็นหนึ่งในพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน การสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุน โดยไทยมีกำหนดทบทวนทุก 5 ปี และการทบทวนครั้งต่อไปจะถูกจัดขึ้นในปี 2568