เคาะประกันรายได้ข้าว งวดที่ 5 รอบนี้จ่ายสูงถึง 38,000 บาท

ประกันรายได้ข้าว โอนเงินวันไหน

“พาณิชย์” เคาะจ่ายส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 5 ข้าว 5 ชนิด เนื่องแนวโน้มราคาข้าวในตลาดยังต่ำกว่าราคาประกันรายได้ที่รัฐบาลระบุ รอบนี้ จ่ายสูงสุดกว่า 38,000 บาทต่อครัวเรือน

วันที่ 7 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 งวดที่ 5

โดยที่ประชุมมีมติพิจารณาจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2563 จำนวน 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ซึ่งเป็นการจ่ายชดเชยงวดที่ 5 ติดต่อกัน เนื่องจากข้าวเปลือกที่อยู่ในโครงการประกันรายได้มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้ที่ระบุไว้

โดยผลการพิจารณาราคาตลาดปัจจุบันกับราคาที่ประกันรายได้ พบว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 12,232.86 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย อยู่ที่ตันละ 2,767.14 บาท , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 11,726.91 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย อยู่ที่ตันละ 2,273.09 บาท , ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 9,189.93 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย อยู่ที่ตันละ 810.07 บาท

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 10,079.73 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย อยู่ที่ตันละ 920.27 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 11,213.54 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่าย อยู่ที่ตันละ 786.46 บาท

ทั้งนี้ จากผลการพิจารณาทำให้เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 5 นี้ คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ส่วนต่างที่ได้ 38,739.96 บาท , ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ส่วนต่างที่ได้ 36,369.44 บาท , ข้าวเปลือกเจ้า ส่วนต่างที่ได้ 24,302.10 บาท , ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ส่วนต่างที่ได้ 23,006.75 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ส่วนต่างที่ได้ 12,583.36 บาท

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประกันรายได้ราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

อย่างไรก็ตาม รัฐยังมีโครงการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว