ม็อบสหกรณ์ เผย รัฐไม่รับฟังความคิดเห็นใน การร่างกฎกระทรวง

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม

ขบวนการสหกรณ์ฯ ชี้ ภาครัฐไม่สนใจฟังความคิดเห็นของกระบวนการสหกรณ์ หลังยื่นหนังสือจำนวน 5 ฉบับ แนะควรมีคนจากขบวนการฯ เข้าชี้แจงร่วมด้วย

วันที่ 8 ธันวาคม 2563 รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุ ขบวนการสหกรณ์และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นำสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎกระทรวง ขอพบ รมว.เกษตรฯ เพื่อยื่นหนังสือขอให้รับฟังความคิดเห็นจากขบวนการสหกรณ์บ้าง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 จำนวน 5 ฉบับ

ทั้ง 5 ฉบับไม่มีการแก้ไขตามความเห็นของขบวนการสหกรณ์ ทำให้เห็นว่า ภาครัฐไม่สนใจรับฟังความคิดเห็นของกระบวนการสหกรณ์ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ทั้งประเทศ ทำให้ผู้แทนสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ จึงยกขบวนมาเจรจาและพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปกับผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเรียกร้องให้การร่างกฎกระทรวงควรรับฟังความคิดเห็นของขบวนการสหกรณ์บ้าง ไม่ควรร่างกฎกระทรวงโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินงานของสหกรณ์

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานฯ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่า สันนิบาตสหกรณ์ รับฟังความคิดเห็นจากสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยทุกสหกรณ์ลงความเห็นว่า การทำงาน ของคณะทำงานในการร่างกฎกระทรวงไม่มีคนของขบวนการสหกรณ์ร่วมแสดงความคิดเห็น หรือชี้แจงถึงผลกระทบจากการร่างกฎกระทรวง

การออกกฎบังคับใด ๆ ควรสอบถามความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และควรมีคนของขบวนการสหกรณ์ ซึ่งมีความสามารถและศักยภาพเพียงพอเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการร่างกฎกระทรวง เพื่อให้ทุกฝ่ายพึงพอใจกับกฎกระทรวงดังกล่าวมากกว่ามาบีบบังคับ ให้สหกรณ์ต้องปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงที่ภาคสหกรณ์เองไม่ได้กำหนด

เบื้องต้นสันนิบาตสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการสัมมนาและการพูดคุยถึงผลกระทบของสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงและกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 โดยสิ่งที่ สันนิบาตสหกรณ์ฯ เป็นห่วงคือผลประกอบการและการดำเนินงาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ เนื่องจากติดกฎหมายจากร่างกฎกระทรวง จึงอยากวิงวอนภาครัฐให้รับฟังสหกรณ์บ้าง

โดยข้อเรียกร้องของสหกรณ์คือ ขอเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานร่างกฎกระทรวง เพราะที่ผ่านมาพบว่าไม่มีการแก้ไขตามความเห็นของขบวนการสหกรณ์เลย ไม่ว่าจะเป็น 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการให้เงินกู้และการให้สินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการรับฝากเงิน การก่อหนี้ การสร้างภาระผูกพัน การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน 3.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์

4.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดชั้นสินทรัพย์และกันเงินสำรองของสหกรณ์ 5.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำกับการกระจุกตัวธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งทั้ง 5 ฉบับ สหกรณ์ได้ให้ความคิดเห็นแย้งไปถึงประเด็นปัญหา แต่กลับไม่ได้รับความเห็นใจจากทางกรมส่งเสริมสหกรณ์และทางกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เลย

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาในส่วนของการกู้สามัญซึ่งเป็นเงินกู้ระยะปานกลางที่ใช้บุคคลค้ำประกันก็ได้มีข้อกำหนดงวดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 150 งวดระยะเวลา 12.5 ปี ซึ่งตรงนี้ ชุมนุมสหกรณ์เห็นว่าควรกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 15 ปีหรือไม่เกิน 180 งวด

ประเด็นปัญหาต่อไปคือการกำหนดให้เงินกู้สามัญ หากกู้ใหม่จะต้องชำระค่างวดตามสัญญาเดิมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด ส่วนเงินกู้พิเศษไม่น้อยกว่า 12 งวด ซึ่งตรงนี้กระทบต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ จึงได้มีข้อเสนอว่า

เห็นควรให้กำหนดว่าหากกู้ใหม่และกู้มาแล้วเกินกว่า ร้อยละ 90 ของสิทธิ์การกู้จะต้องชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด ยกเว้นเงินกู้ประเภทฉุกเฉิน และประเด็นปัญหาที่กำหนดให้การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปให้สหกรณ์กำหนดหลักเกณฑ์ให้สมาชิกส่งข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อประกอบการพิจารณาให้เงินกู้ ซึ่งตรงนี้ขบวนการสหกรณ์เห็นแย้ง

จึงได้มีข้อเสนอไม่ควรนำเรื่องข้อมูลของสมาชิกที่มีอยู่กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ประกอบการพิจารณาการให้เงินกู้ ด้วยเหตุผลว่าเนื่องจากจะทำให้สมาชิกสหกรณ์หรือสหกรณ์มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

รวมถึงข้อมูลเครดิตสมาชิกที่เดือดร้อน อาจไม่สามารถเข้าถึงการกู้ยืมและจะต้องเข้าสู่การกู้เงินนอกระบบซึ่งไม่เป็นการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์

ประเด็นปัญหา ซึ่งกำหนดว่าการพิจารณาให้เงินกู้แก่สมาชิกรายได้รายเดือนหลังหักชำระหนี้แล้วจะต้องมีรายได้เหลือสุทธิไม่น้อยกว่า 30% ตลอดอายุสัญญา ทางสหกรณ์ได้มีข้อเสนอเห็นควรให้เป็นไปตามระเบียบของสหกรณ์จะกำหนดตามความเหมาะสม เหตุผลเนื่องจากเป็นการปล่อยสินเชื่อภายในหน่วยงานซึ่งสมาชิกจะรู้จักกันและบางครั้งสมาชิกอาจมีความจำเป็นเดือดร้อนหรือมีเรื่องที่ไม่คาดคิด จึงไม่ควรกำหนดไว้ตายตัวควรมีช่องทางออกให้กับสมาชิก

ประเด็นปัญหา กรณีชุมนุมสหกรณ์ ปล่อยเงินกู้ให้สหกรณ์ขั้นปฐมซึ่งกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ต้องไม่เกิน 60 งวด สหกรณ์เสนอให้ไม่ควรกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ที่ใช้กับชุมนุมสหกรณ์

เนื่องจากชุมนุมสหกรณ์ทำธุรกรรมกับนิติบุคคล เป็นแหล่งเงินที่จะต้องช่วยเหลือสหกรณ์และช่วยในการบริหารสภาพคล่องขึ้นสหกรณ์ต้องดำเนินไปให้สมาชิกกู้ยืมในระยะยาวต่อไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเด็นกฎหมายที่ถกเถียงกันจึงเห็นได้ว่า การร่างกฎกระทรวงหรือการบังคับใช้กฎหมาย ชนชั้นใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น ดังนั้นร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรมกับขบวนการสหกรณ์

เพราะเป็นการเปิดให้ภาครัฐออกมาใช้อำนาจควบคุม และบอนไซสหกรณ์ มากกว่าดูแลให้สหกรณ์สามารถดำเนินงานด้วยความคล่องตัว และสามารถแข่งขันกับธุรกิจภายนอก การกำกับควรมาคู่กับการดูแล และให้ความเป็นธรรมและรับฟังความคิดเห็นจากขบวนการสหกรณ์ ขบวนการสหกรณ์จึงขอเรียกร้อง และขอส่งหนังสือดังกล่าว ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป