สรท.คาดส่งออกปี 64 บวก 5% ร้องรัฐเร่งลดต้นทุนแฝงกระทบส่งออกไทย

Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยประเมินการส่งออก 2564 ขยายตัว 3-5% ขณะที่การส่งออกทั้งปี 2563 ติดลบต่ำกว่า 7% พร้อมวอนรัฐช่วยเหลือมาตรฐานกระตุ้นส่งออกไทย ลดต้นทุนแฝง ช่วยเหลือค่าเงินบาท

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าว่า สรท. ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลงระหว่าง -7% ถึง -6% โดย 2 เดือนสุดท้ายต้องส่งออกอยู่ที่ 19,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ ปี 2564 เติบโต 3-5% ซึ่งหากจะส่งออกทั้งปีได้ 3% การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนต้องอยู่ที่ 19,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หากจะส่งออกให้ได้ 5% ต่อเดือนต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป โดยค่าเงินบาทอยู่ที่ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐที่ตั้งสมมติฐานไว้

ขณะที่ปัจจัยบวกสำคัญที่จะสนับสนุนให้การส่งออกโต คือ 1.ไทยร่วมลงนามไทยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันถึง 2.2 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็น 30% ของประชากรโลก GDP ครอบคลุมถึง 30% ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเกือบ 28% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ส่งออก

2.ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จากหลายบริษัท อาทิ บริษัทโมเดอร์นา และบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมมือกับไบโอเอ็นเทค ซึ่งมีประสิทธิผลมากถึงร้อยละ 94.5 และ 90 ตามลำดับ เป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับการเจรจาการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมา 3.สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

4.ระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 เนื่องด้วยสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก จะส่งผลให้มีอุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวของการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

และ 5.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและเป็นผลดีต่อการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย อาทิ กลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เป็นต้น

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่ 1.ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง 2.ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น 3.การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม และผลจากการบังคับใช้ความตกลง EVFTA เป็นปัจจัยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตเพื่อการกระจายความเสี่ยงหลังจากนานาประเทศประสบปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ 4.ต้นทุนแฝงในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากกฎระเบียบของไทยที่มีความล้าหลัง รวมถึงมีขั้นตอนดำเนินงานที่ไม่จำเป็นที่ค่อนข้างมาก ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจค่อนข้างสูง

ทั้งด้านโลจิสติกส์ ค่าธรรมเนียมตั้งแต่ขั้นตอนการตั้งโรงงาน การผลิต ส่งออก ภาครัฐ และธนาคาร เป็นต้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงเกินไป ซึ่งเป็นการบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก และ 5.มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ที่อาจมีการเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2564 อาทิ มาตรการ Carbon Border Adjustment Taxation เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการธุรกิจ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สรท.มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐสนับสนุนช่วยเหลือผลักดันส่งออก เช่น เร่งแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนตู้สินค้าและการปรับขึ้นค่าระวางทุกเส้นทาง ดูแลให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพในการแข่งขันและใช้มาตรการทางการเงินเพื่อลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทั่วไปใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

พร้อมทั้งเร่งปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมเพื่อลดต้นทุนแฝงในการส่งออก ทั้งด้านการผลิต ด้านการส่งออก (การตลาด การขออนุญาตส่งออก/นำเข้าตามพิธีการศุลกากร) ด้านการเงินและภาษีอากร ด้านการขนส่งระหว่างประเทศ (เรือ ราง อากาศ รถ)) อันจะส่งผลกระทบและขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งผู้ส่งออกและผู้ประกอบการตลอดทั้งซัพพลายเชน และเร่งพัฒนาระบบ NSW ของไทยให้เป็นระบบ Single Submission เพื่อเป็นการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาของพิธีการทางศุลกากร และจะต้องมีการจัดทำ Data Harmonization ใหม่ เพื่อรองรับการส่งข้อมูล ขาเข้า/ขาออก ณ จุดเดียว และเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาต/ใบรับรอง เชื่อว่าจะลดต้นทุนให้ผู้ส่งออกและแข่งขันในตลาดได้