“อีสท์วอเตอร์” ต่อท่อน้ำลง EEC รับดีมานด์อู่ตะเภา-มาบตาพุดยาว 10 ปี

อีสวอเตอร์

พิษโควิด ฉุดรายได้ “อีสท์ วอเตอร์” ลด 10% สูญ 400 ล้านบาท ยังมีหวังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้นหลังพบวัคซีน เดินหน้าลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำครบวงจร 1,600 ล้านบาท ลุยวางระบบท่อ สร้างแหล่งผันน้ำจากพื้นที่ไกล พร้อมปักหมุดป้อน EEC ความมั่นคงน้ำระยะยาว 10 ปี

นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ หรือ EASTW เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำน้อย การใช้น้ำจากผู้อุปโภคบริโภคจากลูกค้าน้อยลง นักท่องเที่ยวลดลง

จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์
จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์

โดยคาดการณ์ทั้งปีปริมาณการขายน้ำจะอยู่ที่ 260 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงจากปีก่อนที่ขายได้ 296 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ปี 2563 คาดว่ารายได้ลดลง 10% เหลือมูลค่า 4,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า 4,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม คาดว่าไตรมาส 4 แนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ต่อเนื่องไปถึงปี 2564 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ปริมาณการขายน้ำเพิ่มขึ้นจากปีนี้เล็กน้อย มีปริมาณ 290 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบแล้วอาจใกล้เคียงปี 2562 จากปัจจัยที่คาดว่าจะมีวัคซีนเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มฟื้นกลับมา แต่ยังอาจจะไม่เต็มที่มากนัก

“ปีนี้เจอสถานการณ์โควิด-19 ภาคอุปโภคบริโภคจึงน้อยลง รวม ๆ แล้วลดไป 10% ถ้าเทียบแล้วใกล้เคียงปี’62 ซึ่งคาดหวังว่าปีหน้าจะดีขึ้น พอมีวัคซีนเกิดขึ้นการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มกลับมา แต่คงไม่เต็มที่มากนัก คงค่อย ๆ กลับมา รายได้ปี 2564 น่าจะโตประมาณ 10% เทียบเท่าปี 2562″

“ทั้งนี้ ต่อจากนี้เรายิ่งต้องพัฒนาหลายอย่าง มีทั้งการลงทุนทั้งระบบน้ำประปา เนื่องจากปีนี้และที่ผ่านมาเกิดภัยเเล้ง บริษัทเองก็ซื้อน้ำดิบจากเอกชนเองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีต้นทุนค่อนข้างสูง พร้อมทั้งมีแผนการผันน้ำจากพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำที่ไกลขึ้นจึงต้องลงทุนเพื่อความมั่นคงระยะยาว”

นายจิรายุทธกล่าวว่า ในปี 2564 บริษัทเตรียมงบประมาณลงทุนการบริหารจัดการน้ำครบวงจร 1,600 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นการวางระบบท่อส่งน้ำ 550 ล้านบาท ที่ทางอีสท์ วอเตอร์ ยังคงเดินหน้าแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา

โดยมีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-ดอกกราย-มาบตาพุด-สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้ศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในระยะยาว 10 ปี

พร้อมทั้งมีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาดมีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลบ.ม.ต่อวัน

เป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสนามบิน ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ สร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลบ.ม.ต่อวัน

โดยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง เน้นย้ำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร และใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการอีอีซีในอนาคต

นายจิรายุทธกล่าวถึงแนวทางการจัดเก็บอัตราค่าน้ำจากภาครัฐนั้น ยังไม่ทราบแนวทางและข้อสรุปการออกกฎหมายลูกในการจัดเก็บค่าน้ำตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 คาดว่าคงอยู่ระหว่างศึกษาหลักเกณฑ์ ซึ่งบริษัทเองยังคงเฝ้าติดตาม

ส่วนการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่ายังคงพิจารณาปรับโครงสร้างค่าน้ำให้สอดรับกับระบบสากลเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วง 9 เดือนแรก จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2563 แหล่งน้ำของบริษัทในพื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักบางส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระยะ 10 ปี (2554-2563) เนื่องจากมีฝนตกลงมามากในไตรมาส 3

โดย จ.ชลบุรี อยู่ที่ 57% ของความจุอ่าง ขณะที่ จ.ระยอง อยู่ที่ 90% ของความจุอ่าง ทั้งนี้ นับจากเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม 2564 คาดว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าปกติ

รายงานข่าวระบุว่า รายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของ EASTW เท่ากับ 3,153.50 ล้านบาท ลดลง 10.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายน้ำดิบ 58% มูลค่า 1,852.72 ล้านบาท ลดลง 5.40% รายได้จากการจำหน่ายน้ำประปา 35% หรือมูลค่า 1,106.36 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าและค่าบริการ มูลค่า 97.56 ล้านบาท และรายได้ค่าก่อสร้างภายใต้สัญญาสัมปทาน 157.13 ล้านบาท