ส่งออกข้าวโค้งสุดท้ายมาคุ “จีน” หันซื้อ “อินเดีย” 1 แสนตัน

ข้าว

เอกชนจับตาส่งออกข้าวโค้งสุดท้าย “อินเดีย” คว้าออร์เดอร์ข้าวหัก “จีน” 1 แสนตัน ครั้งแรกในรอบ 30 ปี หนุนยอดส่งออกเฉียด 12 ล้านตัน ดึงราคาข้าวส่งออกขยับ ด้านกัมพูชารับอานิสงส์ด้วย 10 เดือนส่งออกพุ่ง 17%

แหล่งข่าวจากวงการส่งออกข้าวเปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาข้าวส่งออกของอินเดียปรับตัวสูงขึ้นจาก 372-378 เป็น 375-381 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากจีนเริ่มซื้อเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยจีนตั้งเป้าที่จะนำเข้าข้าวหักจำนวน 100,000 ตันจากอินเดีย ราคา (FOB)

เนื่องจากอุปทานที่ตึงตัวจากไทย เมียนมา และเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีบังกลาเทศจะซื้อข้าวนึ่ง 50,000 ตัน จากอินเดียอีกในราคา 416 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็นการซื้อครั้งแรกในรอบ 3 ปี และผลดีจากความต้องการที่ดีขึ้นจากแอฟริกา

ล่าสุดปริมาณการส่งออกของอินเดียในช่วง 10 เดือน (มกราคม-ตุลาคม) 2563 เพิ่มขึ้น 43% จากปีที่แล้วเป็น 11.95 ล้านตัน เนื่องจากผู้ซื้อซื้อข้าวอินเดียขายในราคาถูก ทำให้ผู้นำเข้านำเข้าเพื่อสร้างสต๊อกใหม่ จากภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการขนส่งจากประเทศผู้ส่งออกคู่แข่งโดยเฉพาะไทยที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับซัพพลายผลผลิตราคาข้าวตึงตัว

โดยราคาข้าวหัก 5% ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 480-516 เหรียญจาก 480 ถึง 490 เหรียญในสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความต้องการสั่งนำเข้าข้าวเพิ่ม แต่อินเดียก็ยังมีปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์เช่นกัน

ส่วนราคาข้าวหัก 5% ของเวียดนามคู่แข่งอีกรายกลับอ่อนตัวลดลงเหลือ 470-490 เหรียญต่อตัน จาก 495-500 เหรียญสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากความต้องการซื้ออ่อนตัวลง โดยผู้ส่งออกเวียดนามกำลังรอการประชุมข้าวโลกออนไลน์ ซึ่งคาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะซื้อข้าวจากเวียดนามมากขึ้น เพื่อไปใช้ภายหลังจากที่เกิดอุทกภัย ซึ่งจะทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจนถึงปีหน้า

ทางสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานข้อมูลจากสมาคมข้าวกัมพูชาระบุว่า ในช่วง 10 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2563 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยัง 60 ประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้น 17.11% เป็น 536,305 ตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 457,940 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 367 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยส่งออกไปจีน (รวมฮ่องกง ไต้หวัน และมาเก๊า) เป็นอันดับ 1 ปริมาณ 194,451 ตัน คิดเป็น 36.26% ของการส่งออกข้าวทั้งหมด รองลงมา คือ สหภาพยุโรป ปริมาณ 174,391 ตัน หรือ 32.51% อาเซียน ที่ปริมาณ 71,782 ตัน และในภูมิภาคอื่น ๆ รวม 95,581 ตัน

ทั้งนี้ ข้าวส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ 421,132 ตัน และข้าวขาว 109,012 ตัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชาลดลง 19.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำท่วมผลผลิตเสียหาย ซึ่งทางสมาคมข้าวกัมพูชาคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวขึ้นในเดือนธันวาคมถึงมกราคมปีหน้า

“แม้ว่าข้าวกัมพูชาจะเริ่มเป็นที่ต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีกําลังการผลิตข้าวเพื่อส่งออกจํากัด เนื่องจากยังขาดแคลนโรงสีข้าว โรงอบข้าวที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างชาติในด้านต่าง ๆ อาทิ ยกเว้นภาษีกําไร ยกเว้นภาษีนําเข้า วัสดุก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องจักรในการผลิต”


“รวมทั้งยกเว้นภาษีนําเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต สําหรับการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้ามาลงทุนด้านนี้”