ประมูลโรงไฟฟ้าไฮบริดเดือด จับคู่ชิงเค้ก “มิตรผล” ร่วมวง

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก SPP Hybrid Firm ฝุ่นตลบ แค่วันแรกยอดทะลุ 500 เมกะวัตต์ มีทั้งจับคู่ประมูล-ฉายเดี่ยว แข่งเสนอขายไฟฟ้าแบบสู้กันยิบตา หั่นราคาต่ำสุด 2.50-2.80 บาท/หน่วย ชี้รอบนี้กลุ่มชีวมวลได้เปรียบ ด้านมิตรผลยื่นประมูลแบบเดี่ยว ๆ จับตาหุ้นพลังงานในตลาดหลักทรัพย์ฯคึกคักอีกระลอก

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าในโครงการพลังงานหมุนเวียน SPP Hybrid Firm หรือการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเชื้อเพลิง ตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ FIT (Feed in Tariff) ที่อัตรา 3.66 บาท/หน่วย วันที่ 16 ต.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอ มีผู้สนใจเสนอขายไฟฟ้ารวม 25 โครงการ คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย 541.26 เมกะวัตต์ เกินจากเป้าหมายที่ประกาศรับซื้อเพียง 300 เมกะวัตต์ และคาดว่ายังมีผู้สนใจยื่นอีกจำนวนมากก่อนปิดรับวันที่ 20 ต.ค.นี้

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมประมูลในโครงการ SPP Hybrid Firm ค่อนข้างมาก ขณะที่ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าเพียง 300 เมกะวัตต์ จึงแข่งขันกันค่อนข้างสูง คาดว่าจะมีผู้เสนอขายไฟฟ้ามากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ จากกว่า 150 บริษัท นอกจากนี้จะมียื่นเสนอขายไฟฟ้าทั้งในแบบ “จับคู่” ร่วมกันประมูล และแยกประมูลแบบเดี่ยว ๆ

3 กลุ่มหลักจับคู่ประมูล

ในส่วนของการจับคู่สามารถแบ่งได้ 3 รูปแบบ 1) กลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ รวมกับการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ (energy storage system) สามารถผลิตไฟฟ้าและจัดเก็บไว้ในแบตเตอรี่เพื่อส่งเข้าระบบในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งไม่สามารถผลิตไฟได้ 2) กลุ่มไบโอก๊าซกับกลุ่มชีวมวล คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่สามารถลดอัตราค่าไฟฟ้าได้ “ต่ำที่สุด” โดยเฉพาะหากจับคู่กับกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล ที่มีจุดแข็งคือวัตถุดิบอยู่แล้ว และ 3) กลุ่มชีวมวลกับกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มนี้น่าจะลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ค่อนข้างมาก และใกล้เคียงกับกลุ่มที่ยื่นเสนอประเภทชีวมวลกับกับไบโอก๊าซ

ทั้งนี้ ช่วงที่เปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบส่งทั้ง 3 กิจการไฟฟ้า (กฟผ./กฟภ./กฟน.) ทั่วทุกภาคของประเทศ ปรากฏว่ามีผู้ขอลงทะเบียนมากกว่า 1,000 ราย แต่เมื่อ กกพ.ประเมินเบื้องต้นทางเทคนิคแล้ว มีเพียง 100 กว่ารายที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบสายส่งได้ คาดว่าผู้ที่ผ่านประเมินดังกล่าวจะเข้าประมูลเป็นส่วนใหญ่ด้วย เช่น กลุ่มบริษัท มิตรผล จำกัด อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้กำหนดสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากการประมูลครั้งนี้เป็นรายภาค ทำให้การแข่งขันแตกต่างกันไป บางพื้นที่อยู่ที่ 1 : 5 บางพื้นที่อยู่ที่ 1 : 10 โดยเฉพาะพื้นที่มีโรงงานน้ำตาลการแข่งขันสูงมาก

แนวโน้มค่าไฟต่ำสุด 2.50 บาท

การเปิดรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ใช้รูปแบบการประมูล (competitive bidding) โดย กกพ.ได้กำหนดราคากลางค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย นั่นหมายถึงว่าผู้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจะต้องทำราคาค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่าราคากลาง “มากที่สุด” ซึ่งในแวดวงพลังงานทดแทนมีการประเมินจากศักยภาพจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนทุกประเภทแล้วพบว่า กลุ่มชีวมวลน่าจะหั่นราคาค่าไฟฟ้าได้ถูกที่สุด 2.50-2.80 บาท/หน่วย สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินได้

ในอนาคตหากในพื้นที่ภาคใต้ไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือโรงไฟฟ้าเทพาได้ ก็สามารถพิจารณาให้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนรองรับความต้องการใช้ได้ ส่วนกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้แบตเตอรี่ ยังไม่ชัดเจนว่าแนวโน้มราคาจะมีทิศทางลดลงหรือไม่

จับตาหุ้นพลังงานทดแทนคึกคัก

แหล่งข่าวกล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการ SPP Hybrid Firm ครั้งนี้ นอกจากบริษัทพลังงานทั่วไปจะเข้าร่วมประมูลแล้ว บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายรายก็เข้าร่วมประมูลด้วย และการเปิดประมูลครั้งนี้น่าจะช่วยทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะที่ผ่านมาภาครัฐชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน หลังกำลังผลิตใหม่ในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบติดตั้งบนหลังคาขยายตัวอย่างมาก จนกระทบต่อภาพรวมของระบบไฟฟ้าหลัก

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง กกพ.ว่า บริษัทที่ยื่นขอขายไฟฟ้ามีรายใดบ้างนั้น ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อราคาหุ้นได้ ทั้งนี้ กกพ.จะสรุปข้อมูลทั้งหมดภายหลังจากปิดรับข้อเสนอแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทด้านพลังงานทดแทนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซุปเปอร์ บล็อก จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ฯลฯ

ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมรวม 260 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ต้องใช้เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท จึงไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าไฟฟ้าราคากลางที่ประกาศไว้ 3.66 บาท/หน่วย ถือว่าค่อนข้างต่ำ และต้องประมูลแข่งขัน นั่นหมายถึงว่าราคาค่าไฟฟ้าจะต้องต่ำลงอีก

นอกเหนือจากการลงทุนในพลังลม บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานอีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงาน เป้าหมายต้องการให้อยู่ในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เริ่มต้นเฟสแรก 1 จิกะวัตต์/ชั่วโมง จะผลิตเข้าระบบในช่วงปลายปี 2561 ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท และหลังเฟสแรกผลิตแล้ว 3-6 เดือน จะพิจารณาลงทุนในเฟส 2 ต่ออีก 50 จิกะวัตต์/ชั่วโมง

ทั้งนี้ กกพ.ระบุว่าภายหลังจากปิดรับการยื่นขอผลิตไฟฟ้า SPP Hybrid Firm แล้ว วันที่ 24 พ.ย. 2560 จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 300 เมกะวัตต์ดังกล่าว จะเริ่มผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ช่วงปี 2564