ตลาดไม้ “วู๊ดพาเลต” ญี่ปุ่นบูม ไทยจ่อส่งออกทุ่ม 2.8 พันล้านสร้างรง.เพิ่ม

แฟ้มภาพ

เอกชนผุด 4 โรงงานทำไม้วู๊ดพาเลต มูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท ส่งออกป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวลญี่ปุ่นโดยเฉพาะ คาดผลิตช่วงเริ่มต้นก่อน 1 ล้านตัน/ปี หวังสร้างมูลค่าและดันราคาไม้ยางพาราขยับขึ้น 10-20% พร้อมเตรียมดันไม้กระถิน รองรับความต้องการใช้ในประเทศ

ดร.สุเทพ จันทร์เขียว ประธานเครือข่ายการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย หรือ T-CERN (Thai-Forest Certification Network) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาโรงงานผลิตไม้วู๊ดพาเลท (wood pallet) ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยลูกค้าจะนำไม้วู๊ดพาเลตดังกล่าวเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นหลัก จะมีการก่อสร้างโรงงาน 4 โรง กำลังผลิต 250,000 ตัน/ปี/โรง หรือรวมทั้งสิ้น 1 ล้านตัน/ปี คือ 1) บริษัท นัมเบอร์ ไนน์ จำกัด 2) บริษัท ดับเบิ้ล ไนน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 3) บริษัท เอ็น.เค ดิสคัฟเวอร์รี่ จำกัด และ 4) บริษัท บี.เอ็น.อาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท/โรง หรือลงทุนรวม 2,800 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดซื้อไม้ที่จะต้องนำเข้ามาผลิตในโรงงานอีกประมาณ 1,400 ตัน/วัน/โรง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างบางโรงงานแล้ว และคาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2562 โรงงานทั้งหมดจะตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดพังงา, กระบี่, นครศรีธรรมราช, สุราษฎ์ธานี, สงขลา และชลบุรี

ทั้งนี้สำหรับไม้ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบให้ทั้ง 4 โรงงานนั้น จะเป็นไม้ยางพาราที่มีจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อรวมศักยภาพทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 43 ล้านตัน ที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ และส่วนใหญ่มีการเผาทิ้งเป็นหลัก แม้ว่าภาครัฐจะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในกลุ่มชีวมวล (ที่ใช้ไม้สับ เศษไม้ ฯลฯ) แล้วก็ตาม

แต่ยังมีปริมาณน้อยมากทำให้ ปริมาณไม้ยางพาราในระบบยัง “ล้นตลาด” ในขณะที่เมื่อประเมินตลาดต่างประเทศแล้วพบว่า ตลาดญี่ปุ่นยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศชัดเจนว่าจะต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกประเภทมากขึ้น (ภาพรวมกำลังผลิตที่รัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงถึง 50,000 เมกะวัตต์) และให้อัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อสูงถึง 7-8 บาท/หน่วย ดังนั้นตลาดไม้วู๊ดพาเลตยังขยายตัวต่อเนื่องได้ ในช่วงเริ่มต้นญี่ปุ่นต้องการแค่ 1-2 ล้านตัน และคาดว่าในอนาคตความต้องการใช้จะเพิ่มเป็น 5 ล้านตัน/ปีได้

“เครือข่ายการรับรองไม้ฯ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการมา 2-3 ปีแล้ว เพื่อดำเนินการในเรื่องมาตรฐาน FSC และอื่น ๆ ให้คำปรึกษาและการรับรองไม้ สำหรับสมาชิกที่ทำตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกไม้ไปต่างประเทศได้ ก่อนหน้านี้ไม่มีหน่วยงานใดรับรองไม้ว่าถูกต้องตามกฎหมาย ก็ส่งออกไม่ได้ หากทั้ง 4 โรงงานเริ่มผลิตเป็นทางการเท่ากับว่าจะมีการใช้ไม้ยางพาราที่ 2 ล้านตัน/ปี และจะช่วยผลักดันราคาไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10-20%”

ดร.สุเทพกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันราคาไม้ยางพาราที่มีการรับซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ 600-800 บาท/ตัน ในขณะที่ราคาส่งออกในรูปของไม้วู๊ดพาเลต (อัดเม็ด) เกรดพรีเมี่ยม มีราคาประมาณ 14,000 เยน/ตัน หรือ 4,900 บาท/ตัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการตกลงซื้อขายระหว่างผู้ขายและผู้รับซื้อด้วย นอกเหนือจากการผลิตไม้วู๊ดพาเลตจากทั้ง 4 โรงงานนี้แล้ว ยังมีผู้ประกอบการอีกประมาณ 3-4 รายที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศและเข้ามาปรึกษาถึงขั้นตอนการดำเนินการเช่น บริษัท เจ.ซี.เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและล่าสุดมาตั้งบริษัทสาขาในไทยอีกด้วย

นอกจากนี้เครือข่ายการรับรองไม้ฯ ยังเตรียมที่จะส่งเสริมตลาดไม้เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ คือ การปลูกไม้โตเร็วเช่น กระถินที่ใช้เวลาปลูกเพียง 2 ปี ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้ที่ดินในส่วนที่มีความสมบูรณ์ต่ำ ที่มีอยู่ทั่วประเทศรวม 4 ล้านไร่ เพื่อปลูกไม้โตเร็วและมีความทนทานอย่างกระถิน โดยจะไม่มีการใช้ที่ดินสำหรับพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นอาหารแน่นอน


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับเครือข่ายการรับรองไม้เศรษฐกิจไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างระบบหรือเป็นเครื่องมือในการจัดมาตรฐานและรับรองไม้ให้ได้มาตรฐานสากล รวมถึงการตรวจสอบแหล่งกำเนิดไม้จนถึงอุตสาหกรรมไม้ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น มาตรฐาน FSC และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง