อุตฯ ดันใช้พลังงานทดแทน ชู MRP จับคู่ผลิตกังหันขาย

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนในประเทศเพิ่มขึ้น กรอ.ได้เตรียมจัดเวทีกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจในเดือน ธ.ค. 2560 นี้ เป็นครั้งแรก โดยจะให้ผู้ประกอบการผู้ผลิตชิ้นส่วนพลังงานทดแทน และผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการลงทุนและใช้พลังงานทดแทนในโรงงานมาพบกัน เพื่อเป็นการสร้างความต้องการใช้ (demand) ขึ้นก่อน และลดการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศที่มีราคาสูง โดยที่ผ่านมาภาครัฐเองมีหลายมาตรการสนับสนุน เช่น เงินทุนจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ มาตรการจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี

“เรามองว่ามีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมาให้ได้ เมื่อคนไทยผลิตชิ้นส่วนเองได้ ไม่ช้าพลังงานทดแทนจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถแข่งขันได้ ปัจจุบันมีโรงงานที่จดทะเบียนขอใบอนุญาต รง.4 ประมาณ 100 โรงงาน ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล โซลาร์เซลล์ ฟอสซิล และไบโอก๊าซ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 35% ตอนนี้พลังงานชีวมวลมีสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือโซลาร์เซลล์”

นายมารุจน์ พรหมเมศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอาร์พี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (MRP) กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนกังหันลมรายเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกำลังการผลิตเต็ม 1,000 ต้น/ปี โดยกังหันลม 1 ต้น มีราคาขายที่ 12 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าได้ 100 กิโลวัตต์ ถ้ามี 10 ต้น จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ภายใต้ความเร็วลม 10 เมตร/วินาที แต่ละวันจึงผลิตไฟได้ประมาณ 300-500 หน่วย/วัน มีอายุการใช้งาน 20 ปี ทั้งนี้ ชิ้นส่วนทั้งหมดของกังหันลมผลิตขึ้นเองในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงถึง 2 เท่า

“ที่ผ่านมากังหันลมของบริษัทถูกนำไปใช้ในพื้นที่หลายแห่ง เช่น โครงการชั่งหัวมัน จ.เพชรบุรี จำนวน 30 ต้น และที่ท่าเรือแหลมฉบัง 100 ต้น และเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาได้ทดลองติดตั้งไว้ใช้งานเองที่โรงงาน MRP เพื่อดูประสิทธิภาพ โดยกังหันลม 1 ต้น คิดเป็น 10% ของไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานเท่านั้น ปกติกังหันลม 1 ต้น สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 12,000 ยูนิตต่อต้นต่อเดือน ที่ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 5-6 เมตร/วินาที สามารถช่วยประหยัดพลังงานได้สูงถึง 48,000 บาทต่อต้น/เดือน และในอนาคตเตรียมผลิตกังหันลมอีก 200 ต้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาจับคู่ธุรกิจ และล่าสุดได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงานภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เตรียมผลิตกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทน รองรับโครงการพระราชดำริขนาดใหญ่ 100 กิโลวัตต์