ดึงลูกค้าฮ่องกงสำรวจข้าว-มั่นใจส่งออก 11 ล้านตัน

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ดึงผู้นำเข้าฮ่องกง 20 รายลงพื้นที่ จ.อุบลฯ สำรวจข้าวเปลือกนาปี 60/61 มั่นใจดันส่งออกทั้งปีทะลุ 11 ล้านตัน ดึงราคาข้าวเปลือก พร้อมเทงบฯ 10 ล้านบาทช่วยลดต้นทุนชาวนา

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจะนำคณะลงพื้นที่สำรวจผลผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2560/2561 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายนนี้ ที่ จ.อุบลราชธานี จะนำคณะผู้นำเข้าจากฮ่องกง 20 รายลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวนาปีด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้า โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งปี 2560 น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากผลผลิตในปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณฝนดี ทำให้ผลผลิตข้าวดี โดยเฉพาะผลผลิตข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ดีขึ้น แต่อาจจะเก็บเกี่ยวล่าช้าจากปกติ 1-2 สัปดาห์

“แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณสต๊อกข้าวของโรงสีไม่มีเหลือแล้ว จึงน่าจะมีความต้องการซื้อข้าวมากขึ้น”

ขณะที่ความต้องการข้าวในตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เช่น บังคลาเทศมีคำสั่งซื้อข้าวนึ่ง 1.5 แสนตัน และมีการนำเข้าไปใช้ในเทศกาลปีใหม่ น่าจะทำให้ยอดส่งออกข้าวทั้งปี 10.8 ล้านตัน ใกล้เคียงเป้าหมาย 11 ล้านตัน หากเฉลี่ย 3 เดือนสุดท้ายส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 900,000 ตัน

ส่วนมูลค่าการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้น 15% จากปีที่ผ่านมา หากค่าเงินบาทเอื้อจะเป็นประโยชน์ต่อภาพการส่งออก โดยขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิของไทย ตันละ 12,000 บาทต่อตัน หรือคิดเป็นราคาส่งออกตันละ 750-800 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวขาวตันละ 7,500-8,000 บาทเพิ่มขึ้นตันละ 1,500-2,000 บาทจากปีก่อนตันละ 6,000 บาทต่อตัน ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% ตันละ 375 เหรียญสหรัฐ ข้าวนึ่ง 5% ตันละ 385 เหรียญสหรัฐ

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดโครงการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพข้าวส่งออกของเกษตรกร โดยสมาคม ให้เงินช่วยเหลือค่ารถเกี่ยวนวดข้าวให้แก่ชาวนาที่เป็นสมาชิกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย 5,363 ราย จาก 12 จังหวัด เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และศรีสะเกษ เป็นต้น ในอัตราไร่ละ 200 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ รวมเป็นเงิน 9,172,300 บาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ของชาวนาโดยตรง

นอกจากนี้ กรมการค้าภายในร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จัดทำแอปพลิเคชั่นจองรถเกี่ยว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรถเกี่ยวข้าว โดยจะนำร่องใช้ใน จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคมนี้

นางอภิรดียืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีแผนระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลที่เหลือ 8 ล้านตัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณข้าวนาปีกำลังออก ส่วนการส่งออกข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ต.ค. 2560 มีปริมาณ 8.9 ล้านตัน มูลค่า 132,754 ล้านบาท หรือ 3,891 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 17.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ระบายสต๊อกข้าวไป 16.10 ล้านตัน มูลค่า 142,113.38 ล้านบาท โดยเป็นการขายตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ 361,648 ตัน มูลค่า 3,472 ล้านบาท การขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (GtoG) ให้กับ BULOG อินโดนีเซีย 25,000 ตัน มูลค่า 135,287 ล้านบาท ซึ่งได้มีการใช้ข้าวสารในสต๊อกจ่ายเป็นค่าปรับปรุงให้ผู้ส่งออกที่ส่งมอบ GtoG ให้รัฐบาลจีน ฟิลิปปินส์ และข้าวบริจาคในและต่างประเทศ รวม 97,066 ตัน มูลค่า 1,066 ล้านบาท การขายข้าวให้กับกรมราชทัณฑ์ 155,159 ตัน มูลค่า 1,945 ล้านบาท การประมูลข้าวให้เอกชน 27 ครั้ง รวม 15.46 ล้านตัน 135,287 ล้านบาท ทำให้ขณะนี้เหลือข้าวสารในสต๊อก 2-3 ล้านตัน เป็นกลุ่ม 1 สำหรับให้คนบริโภค 50,000 ตัน และกลุ่ม 2 เพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (อาหารสัตว์) และกลุ่ม 3 เพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ รวม 2.07 ล้านตัน ซึ่งยังติดปัญหาคดีความอยู่ระหว่างรอทำสัญญากับผู้ชนะการประมูล