โอกาสสินค้าฮาลาล เกษตรฯ เจาะตลาดส่งออกกลุ่มประเทศมุสลิม 2 พันล้านคน

กระทรวงเกษตรฯ พลิกวิกฤต โอกาสประเทศยุคโควิด มุ่งตลาดฮาลาล 48 ล้านล้านบาท เล็งกลุ่มประเทศมุสลิม 2 พันล้านคน วางเป้าไทยผู้นำอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาล

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในการเป็นประเทศผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดเป้าหมายใหม่กลุ่มประเทศมุสลิม 2,000 ล้านคน และผู้บริโภคสินค้าฮาลาลที่ไม่ใช่มุสลิมทั่วโลก

โดยในปี 2020 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่า 1,533,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (48,004,350 ล้านบาท) และประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,285,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71,545,354 ล้านบาท) ในปี 2026 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (16.8 ล้านล้านบาท)

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐาน “ฮาลาล” ครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมนี้ จึงมอบหมาย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นประธานเพื่อเป็นเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตผลการเกษตรมาตรฐานฮาลาลสำหรับประเทศไทยต่อไป

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยต้องเป็นประเทศผู้นําในการพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล สู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานฮาลาลไทย โดยใช้หลักศาสนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในปี 2570 โดยมีแนวทางการส่งเสริมการค้าผลผลิตการเกษตรและอาหารมาตรฐานฮาลาล 5 นโยบาย ดังนี้

1. นโยบายเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล 2. นโยบายยกระดับความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร 3. นโยบายเสริมสร้างองค์ความรู้ในการผลิตและการบริหารจัดการตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงผู้บริโภค 4. นโยบายเพิ่มศักยภาพทางตลาดและโลจิสติกส์ 5. นโยบายยกระดับความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแนวทางสำคัญๆ เช่น การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า (Halal Hub) การจัดตั้งสถาบันฮาลาล(Halal Academy) การพัฒนาฐานข้อมูลฮาลาล (Thailand Halal Big Data) และการส่งเสริมฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาล (H Number)

รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐานฮาลาลของไทย มีความสอดคล้องต้องกันและเป็นที่ยอมรับของมาตรฐานฮาลาลโลก การกำหนดวิสัยทัศน์และนโยบายฮาลาลในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยเป็นเป้าหมาย และโรดแม็ปสำหรับการพัฒนาสินค้ามาตรฐานฮาลาลสู่ตลาดโลก


นายสมศักดิ์ เมดาน รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐานฮาลาลไทย “ตามหลักการอิสลาม โดยองค์กรศาสนา ด้วยมาตรฐานสากล” วันนี้ เรามีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลมากกว่าแสนห้าหมื่นรายการ ถือว่ามากที่สุดในโลก เครื่องหมายรับรองฮาลาลไทยเป็นเครื่องหมายรับรองฮาลาลเครื่องหมายแรกของโลก ระบบการตรวจรับรองฮาลาลไทยใช้หลักการศาสนาอิสลามเป็นหลักในการกำหนดมาตรฐานตรวจรับรองและใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการตรวจรับรองในกรณีที่มีความจำเป็น เช่นการตรวจส่วนผสมที่มีแอลกอฮอล์หรือ DNA ของสัตว์