หอการค้าคาดเศรษฐกิจไทยปี’64 ฟื้นตัว โต 2.8% ห่วงส่งออกจากปัญหาตู้ขาดแคลน

หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจไทย 2564 ฟื้นตัว โต 2.8% ขณะที่การส่งออกคาดอยู่ที่ 3.5% ผลปัญหาจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 อยู่ที่ 2.8% โดยการส่งออกทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 3.5% ภายใต้ค่าเงินบาทเฉลี่ย 30.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 44.20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนการประมาณการณ์ตัวเลขอื่นๆคาดว่า การลงทุนรวมภาคเอกชน อยู่ที่ 2.8% การลงทุนภาครัฐ อยู่ที่ 12.6% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะเข้ามาได้ประมาณ 4 ล้านคน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.0% หนี้ภาคครัวเรือน อยู่ที่ 84.5% ต่อจีดีพี

ส่วนปัจจัยสนับสนุน เช่น การมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวภายหลังจาการคลายล็อกดาวน์ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย

ขณะที่ปัจจัยลบที่ยังต้องจับตา ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัว ความเปราะบางทางการเมืองทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง เงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 29.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

รวมถึงความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนด และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่าสหรัฐฯกับจีน

อย่างไรก็ดี ภาพการส่งออกของไทยในปีหน้าจะกลับมาดีได้อยู่ในช่วงไตรมาส 2 หรือช่วงเดือนเมษายน 2564 จากการคาดว่าปัญหาตู้คอนเทนเนอร์จะคลี่คลาย และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจรัฐบาลควรต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยประคองการส่งออกที่หายไปในช่วงในแรก

ส่วนปัญหาเปราะบางที่ต้องติดตามได้แก่ ตลาดแรงงาน ปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงสุดในรอบ 7 ปี ที่ภาครัฐต้องเข้าแก้ไข

ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปีหน้า คาดว่าจะเริ่มลดลงจากปี 2563 นี้ แม้จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 80% ของจีดีพีก็ตาม แต่ก็ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปีนี้มาจากผลชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด ที่ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อรักษาสภาพคล่อง และคาดว่าหนี้ครัวเรือนจะสามารถลดลงต่ำกว่าระดับ 80% ได้ในปี 2565

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 ธ.ค. 2563 คาดว่าการประชุม กนง.รอบนี้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว พร้อมมองว่าไม่มีเหตุผลที่ กนง.จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อดูแลสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า

อีกทั้ง อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันถือว่าเพียงพอสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยแล้ว อย่างไรก็ดี หากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามคาด กนง.ก็ยังมีช่องที่จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25% แต่มองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งหากมีเหตุการณ์พลิกผันขึ้นจริง รัฐบาลยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะกู้เงินได้อีก 1-1.5 ล้านล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ


ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีงบประมาณในส่วนของงบ 4 แสนล้านบาทเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 2 แสนล้านบาทที่จะสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้จนถึงเดือนกันยายน 2564