“สหรัฐ” ยืดเซฟการ์ดเครื่องซักผ้า ส.อ.ท.หวั่นแข่งยากทุนนอกหนีไปเวียดนาม

สหรัฐยืดเก็บภาษีเซฟการ์ดเครื่องซักผ้าไทยต่อ 2 ปี ขีดเส้นโควตา 9 หมื่น ป้องบิ๊กธุรกิจเวิร์ลพูล ด้าน “ส.อ.ท.” ชี้ “ผู้ผลิตแบรนด์ดัง” สุดทนย้ายฐานหนีไปเวียดนาม อาศัยค่าแรงถูก-สิทธิประโยชน์ความตกลงเอฟทีเอ หลังไทยโดนรีดเซฟการ์ด 2 ปีฉุดยอดส่งออกทรุด หวั่นอนาคตไทยไม่ใช่ฐานผลิตอีกต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และไมอามี ประเทศสหรัฐ ว่า ทางสหรัฐได้ประกาศให้ขยายมาตรการเรียกเก็บภาษีปกป้องกันนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) และปริมาณโควตา สินค้าเครื่องซักผ้าที่นำเข้าทั่วโลกรวมถึงไทยต่อเนื่องไปอีก 2 ปี จากเดิมที่มีกำหนดใช้ 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 และกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564

อัตราภาษีนำเข้ากลุ่มเครื่องซักผ้าตามมาตรฐานเซฟการ์ดสหรัฐ
อัตราภาษีนำเข้ากลุ่มเครื่องซักผ้าตามมาตรฐานเซฟการ์ดสหรัฐ

สำหรับอัตราภาษีเซฟการ์ดใหม่นั้นได้กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564-7 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยต้องเสียภาษีอัตรา 15% และ 40% ในปริมาณการนำเข้าไม่เกิน 90,000 ตู้ และในปีที่ 5 ระหว่างวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ถึง 7 กุมภาพันธ์ 2566 จะลดภาษีเซฟการ์ดลงเหลืออัตรา 14% (ตามกราฟิก)

ทั้งนี้ การเก็บภาษีเซฟการ์ดเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในสหรัฐ ซึ่งในปี 2562 มูลค่าตลาดเครื่องซักผ้าอยู่ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผู้ผลิตชั้นนำที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ได้แก่ บริษัท Whirlpool Corp. ผู้ประกอบการค้าปลีกสินค้าเครื่องซักผ้ารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 42.5%

รองลงมา ได้แก่ บริษัท Haier Group มีส่วนแบ่งตลาด 15.9% บริษัท LG Electronics USA 11.8% บริษัท Samsung Electronics America 11.6% และบริษัท Sear Holding Corp. 8.2%

รายงานข่าวระบุว่า หลังจากสหรัฐเรียกเก็บภาษีเซฟการ์ดเครื่องซักผ้าจากทั่วโลกช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดนำเข้าเริ่มของสหรัฐลดลงต่อเนื่องจากปี 2561-2562 ลดลงไปแล้ว 32.66% เหลือเฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเฉพาะการนำเข้าจากไทยซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 4 ของสหรัฐ รองจากจีน เม็กซิโก และเวียดนามลดลงเช่นกัน ล่าสุดในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) 2563 สหรัฐนำเข้าจากไทยเพียง 105.49 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 44.45% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่นำเข้า 189.88 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากพิจารณาตัวเลขย้อนหลังพบว่า สหรัฐนำเข้าเครื่องซักผ้าจากไทยลดลงต่อเนื่องมา 3 ปีนับจากก่อนใช้เซฟการ์ดปี 2560 เคยนำเข้า 470.49 เหรียญสหรัฐ ต่อมาหลังจากใช้มาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่จากระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561-เดือนกุมภาพันธ์ปี 2564

โดยกำหนดอัตราภาษีปีแรก ระหว่าง 20-50% ปีที่ 2 อัตราระหว่าง 18-45% และปีที่ 3 อัตราระหว่าง 16-40% ขึ้นอยู่กับประเภทและจำนวนสินค้า ส่งผลในปี 2561 นำเข้าเหลือ 237.61 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2562 นำเข้าเหลือเพียง 216.65 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่เพียงเฉพาะการใช้เซฟการ์ดเท่านั้น แต่สหรัฐยังได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้ากลุ่มเครื่องซักผ้าจากไทย 4 พิกัด ได้แก่ HS Code 8450.12.00 8450.90.20 8450.90.40 และ 8450.90.60 ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

อีกทั้งโครงการจีเอสพีสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าวกำลังจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 หากรัฐบาลสหรัฐไม่มีการพิจารณาต่ออายุจะทำให้สินค้านำเข้าจากไทยต้องชำระภาษีนำเข้าในอัตราปกติระหว่าง 1.0-2.6% และหากไทยส่งออกเกินจำนวนที่กำหนดตามมาตรการเซฟการ์ดสินค้าส่วนเกินก็ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งว่า สหรัฐนำเข้าสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนเครื่องซักผ้า (HS Code 845090) จากไทยเพิ่มขึ้น 17.02% เป็นมูลค่า 34.81 ล้านเหรียญสหรัฐ สวนทางกับการนำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าศักยภาพสูงที่มีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคตก็เป็นได้

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากการเรียกเก็บเซฟการ์ด และการตัดสิทธิจีเอสพีเครื่องซักผ้าทำให้ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าในประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

กระทั่งมีข่าวว่าผู้ผลิตเครื่องซักผ้ารายใหญ่รายหนึ่งที่เคยอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน 20-30 ปี ได้ย้ายไลน์การผลิตเครื่องซักผ้าและตู้เย็นไปที่เวียดนาม เพราะเวียดนามมีความได้เปรียบทั้งต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าและเวียดนามได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับ

ทั้งความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป และเวียดนาม (EVFTA) และความตกลงการค้าเสรีระหว่างเวียดนามกับสหราชอาณาจักร (ยูเค) ซึ่งเพิ่งจะมีการลงนามไป จะทำให้ผู้ผลิตในเวียดนามมีโอกาสผลิตสินค้าส่งออกไปขายยังตลาดกลุ่มนี้มีความได้เปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะที่หากผลิตในไทยต้นทุนค่าแรงสูง ทั้งยังมีเซฟการ์ด และไม่ได้ลดภาษีนำเข้าเพราะไม่มีเอฟทีเอ

“เดิมที่เขามาผลิตในไทยเพราะค่าแรงยังต่ำและมีตลาดรองรับ แต่ตอนนี้ค่าแรงสูง ตลาดก็เต็มแล้ว เขาจึงไปอาศัยค่าแรงถูกและตลาดเวียดนาม รวมถึงใช้ฐานเวียดนามส่งออกไปยังประเทศอื่นที่เป็นคู่ค้าเอฟทีเอของเวียดนาม แนวทางแก้ไขอาจจะยาก”

“เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นนักลงทุนต่างชาติ การตัดสินใจเป็นของต่างชาติ เมื่อฐานผลิตต้นทุนต่ำกว่า และมีสิทธิประโยชน์การลดภาษีจากเอฟทีเอเขาก็ไป ส่วนไทยโดนเซฟการ์ดอีก 2 ปี สิ่งที่จะเกิดขึ้น อนาคตโครงสร้างการผลิตเครื่องซักผ้าเปลี่ยน ไทยอาจจะไม่ใช่ฐานผลิตอีกต่อไปแล้ว”

“ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์โลกที่ต้องปรับสมดุลฐานการผลิตไป ซึ่งย่อมส่งผลต่อตัวเลขการส่งออก เพราะฐานตัวเลขส่งออกจากอุตสาหกรรมนี้จะหายไป”