สมุทรสาคร โควิดระลอกใหม่ทุบอุตสาหกรรมเสียหายวันละ 1,000 ล้าน

6,082 โรงงานสมุทรสาคร ผวา ส.อ.ท. ชี้โควิดระลอกใหม่ ทุบเศรษฐกิจสมุทรสาครสูญกว่าวันละ 1 พันล้านบาท วอนรัฐเร่งตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด เร่งดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่า เบื้องต้นทางส.อ.ท. ได้สั่งการให้ทุกโรงงานโหลดแอพพลิเคชั่น หมอชนะ เพราะสมุทรสาครเข้มงวดมากขึ้น แรงงานต้องใส่ถุงมือ ดูเรื่องสุขอนามัย เรื่องโซเชียล และเวิร์คฟอร์มโฮม ลดการใกล้ชิดกัน โดยขณะนี้ มีเพียง 1 โรงงานที่ปิดทำการ 14 วัน คือ โรงของบริษัท ไทยยูเนียนกรุ๊ป หรือทียู ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย

ทั้งนี้ จากการประเมินภาพรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจในจังหวัดสมุทรสาคร คาดว่าเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน เนื่องจากได้รับผลกระทบด้านการดำเนินการ ซึ่งเอกชนในพื้นที่ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ต้องยอมรับและแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยเบื้องต้นสำหรับโรงงานที่ไม่มีปัญหายังมีการผลิตตามปกติ แต่อาจได้รับผลกระทบเรื่องโลจิสติกส์บ้างเนื่องจากต้องขนส่งตามเวลาเคอร์ฟิว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 โรงงาน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นโรงงานของสมาชิกส.อ.ท. จำนวน 334 โรงงาน (จำนวนแรงงาน93,100 ราย ที่อยู่ในระบบสมาชิก) โดยมีจำนวนแรงงานต่างด้าว ประมาณ 233,071 คน จากจำนวนแรงงานในจังหวัดสมุทรสาครรวม 345,284 ราย
ที่เหลือแบ่งเป็น สมาชิกในสมุทรสาคร 148 ราย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สังกัดจังหวัด 50 ราย

สำหรับ จำนวนแรงงานทั่วประเทศมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมดประมาณ 2-3 ล้านราย อยู่ในระบบ 1 ล้านกว่าราย หรือประมาณ 80% อยู่นอกระบบ 20% เป็นแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบ ส่วนใหญ่ทำงานตามตลาดสด และแม่บ้าน ส่วนแรงงานที่ถูกกฎหมายจะเข้ามาทำงาน อาทิ ประมง และห้องเย็น เป็นต้น

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เริ่มมีการตรวจคนในชุมชนแล้ว โดยเฉพาะชุมชนตลาดกุ้ง แะทางภาครัฐได้สั่งห้ามไม่ให้แรงงานเมียนมาเคลื่อนย้ายออกเคหะสถาน ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้รวบรวมเงิน ประมาณ 1 แสนบาท เพื่อซื้อข้าว และสินค้าอุปโภคเพื่อส่งไปให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่แล้ว พร้อมยืนยันว่าแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานถูกกฎหมายเพราะได้สิทธิประกันสังคม และหากเป็นแรงงานผิดกฎหมายมีโทษปรับสูงถึง 2 แสนบาทต่อราย

“เรื่องเหล่านี้มีที่มาที่ไป รู้ว่าภาครัฐรู้ขบวนการ เป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ ต้องหยุดให้ได้ ไม่งั้นอาจสร้างความเสียหายได้ หลังจากนี้ขอให้ภาครัฐเร่งตรวจหาเชื้อให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะคนในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อยับยั้งการระบาด พร้อมสนับสนุนให้รัฐบาลดึงแรงงานต่างด้าวเข้าระบบ ถูกต้องตามฎหมาย และจะประสานกับเมียนมา เพื่อให้ส่งแรงงานมาตามโควต้า” นายสุพันธุ์ กล่าว

สำหรับภาคอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร โดยแบ่งตามลักษณะของอุตสาหกรรม ดังนี้ 1) อุตสาหกรรม อาหาร วัตถุดิบเกษตร จักรกล และ อุตสาหกรรมทั่วไป 2) อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ยาง 3) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์

4) อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อและกระดาษ อลูมิเนียม การพิมพ์ 5) อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน 6) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ 7) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

และ 8) อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมา เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกอบการวางแผนเตรียมการป้องกัน และส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในการลดการติดต่อของโรค ป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มและสามารถจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการใช้แพลทฟอร์ม “ไทยชนะ” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม สำหรับ Digital Tracking ภาคบังคับในการเข้าสู่สถานที่ต่างๆ และใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่เป็น Digital Tracking Application ภาคสมัครใจในการติดตามตัวบุคคลและผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ