กรมประมง ยันสัตว์น้ำไทยกินได้ ขอห้องเย็นโรงงานแปรรูปรับซื้อกุ้งเกิน 100 ตัน

กรมประมงร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ ชาวประมง ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “สัตว์น้ำมาตรฐานไทยสู้ภัยโควิด-19” อธิบดียืนยันสัตว์น้ำไทยปลอดภัยจากโควิด-19 พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว ขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้ง ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตเกินอยู่ 100 ตัน

ตามที่ประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ซึ่งแหล่งแพร่กระจายโรคมาจากตลาดกุ้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น ๆ สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสัตว์น้ำ อีกทั้งยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวประมงเป็นอย่างมาก

รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง ผู้ประกอบการในทุกภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้มีการสั่งการให้ทุกฝ่ายเข้มงวดและเพิ่มมาตรการในการเฝ้าระวัง ตรวจเข้มการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างรัดกุม เพื่อความปลอดภัยของพลเมืองไทย ควบคู่ไปกับการกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลช่วยเหลือความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรทุกภาคการผลิตด้วย

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ และการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ชาวประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นอย่างมาก ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมง เร่งดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรชาวประมงโดยเร็วที่สุด

ดังนั้น ในเบื้องต้น กรมประมงจึงได้ร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมง จัดกิจกรรม “สัตว์น้ำมาตรฐานไทย…สู้ภัยโควิด-19” จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ อาทิ ปูม้านึ่ง กุ้งแชบ๊วย กุ้งต้ม กุ้งก้ามกราม กั้ง ปลาอินทรีย์ ปลากะพง ปลาดุก ฯลฯ ได้มาตรฐานกรมประมง สด สะอาด ปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการเพิ่มช่องทางระบายสินค้าให้กับพี่น้องเกษตรกร ที่สำคัญเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา กรมประมงมีมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกับเรื่องของความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าประมง ทั้งเรื่องของมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำก่อนถึงมือผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับสัตว์น้ำที่มาจากการเพาะเลี้ยงจะต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) ส่วนที่มาจากการทำประมงต้องผ่านการประเมินสุขอนามัยบนเรือประมง อีกทั้ง ยังมีการสุ่มตรวจสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่วาง จำหน่ายในท้องตลาดโดยใช้ชุดทดสอบ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเกษตรกรและชาวประมงด้วย

เช่น การตรวจสอบคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือ เมื่อแจ้งเข้า – ออก ณ ท่าเทียบเรือทุกแห่ง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ความสำคัญและเข้มงวดในเรื่องของสุขอนามัยและความปลอดภัย ฯลฯ ส่วนของการนำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ ด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมง ได้บูรณาการร่วมกับสาธารณสุข และแรงงาน ฯลฯ เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลควบคุมการตรวจการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำใช้เครื่องจักรในการขนถ่ายสัตว์น้ำ ซึ่งมีกระบวนการสามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้

อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง

สำหรับเรื่องของการเยียวยาหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร กรมประมงได้มีการประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว โดยขณะนี้ได้ขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้ง ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตเกินอยู่ 100 ตัน ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวประมงในการชะลอการจับสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันสินค้าสัตว์น้ำล้นตลาดด้วย