ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รีเซต “บางจาก” ฝ่าโควิดระลอกใหม่

สัมภาษณ์

ธุรกิจน้ำมันเป็นอีกหนึ่งที่ถูกดิสรัปต์ด้วยการเปลี่ยนไปของโลก เมื่อถึงวันที่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์จากเดิมที่พึ่งพาน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก การกลั่นน้ำมันกลายเป็นธุรกิจขาลง

“นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการรับมือกับราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน วิกฤตโควิด-19 สู่การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่กับ 3 แผนงานใหญ่ เพื่อสร้างความบาลานซ์สัดส่วนรายได้ ด้วยเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รีเซตธุรกิจบางจากฯ

ปี 2563 เราคิดว่าจะเป็นปีที่เปอร์เฟ็กต์ แต่โควิด-19 มาตั้งแต่ต้นปีทำทุกอย่างชะลอกันไปหมด เรารับสภาพและยอมรับความจริง เพื่อที่จะปรับตัวให้เร็วต้องคล่องแคล่วว่องไวที่สุด จึงมีการปรับแผนหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรก เราหันกลับมาดูธุรกิจหลักของเราที่เป็นน้ำมัน โรงกลั่น กลับมาดูสภาพคล่อง ออกหุ้นกู้ระยะยาว 8,000 กว่าล้านบาท และอื่น ๆ ตามมาอีก

จากนั้นในช่วงครึ่งปีหลังเราได้เริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กรกันใหม่ หารายได้จากธุรกิจที่คงเส้นคงวา อย่างธุรกิจโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ ในฐานะที่บางจากฯเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงซื้อหุ้นเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาทให้กับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)

โดยปีนี้ได้ทยอยเพิ่มทุนก้อนแรกไป 7,000 ล้านบาท ปี 2564 จะเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ปี 2565 อีก 1,000 ล้านบาท และปี 2566 อีก 1,000 ล้านบาทจนครบตามแผน 3 ปี เพื่อตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

ในช่วงปีหลังเราเริ่มแนวคิด 3Rs ที่เริ่มตั้งแต่การ refocus : เป็นการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ด้วยการปรับสัดส่วนธุรกิจใหม่ อะไรที่ไม่ใช่หลักของเราเราก็ตัดขายออก

จากนั้นเราก็ทำการ restructure : เป็นการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า อย่างการขยายสถานีบริการปั๊มน้ำมัน 100 แห่ง

และ reimagine : คือ การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัททั้งการเพิ่มทุน เก็บเงินสด การควบคุมค่าใช้จ่ายนับเป็นเรื่องสำคัญ ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤตในปี 2563 เราสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 900 ล้านบาท

“ปีนี้ก็เหมือนว่าเรารีเซตตั้งต้นกันใหม่ในหลาย ๆ ด้าน เพื่อที่ปี 2564 กระบวนการทำงานของบางจากฯก็จะคล่องตัวขึ้น พร้อมรับกับสถานการณ์”

3 แผนภายใต้ 3 สมมุติฐาน

ผลจากโควิดเป็นครั้งแรกที่บางจากฯทำ 3 แผนภายใต้ 3 สมมุติฐานสำคัญ คือ

1.แผนที่อยู่ภายใต้กรณีฐาน (base case) ที่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 46 ดอลลาร์/บาร์เรล

2.แผนที่อยู่ภายใต้กรณีที่เป็นไปได้ (likely case) ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 41 ดอลลาร์/บาร์เรล

และ 3.แผนที่อยู่ภายใต้กรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case) ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 35 ดอลลาร์/บาร์เรล

โดยแต่ละแผนจะถูกเลือกใช้ตามสถานการณ์ แต่เราจะยึดแผนกรณี base case เป็นหลัก วงเงิน 23,000 ล้านบาท เริ่มปรับสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเป็น 75% ปัจจุบันดำเนินการโดยบริษัท
บีซีพีจี ธุรกิจการตลาดและธุรกิจโรงกลั่นสัดส่วน 15-16% และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bio) ที่ดำเนินการโดยบริษัท บีบีจีไอ (BBGI) สัดส่วน 9-10%

ชูสินค้าใหม่

ภายใต้สมมุติฐานเดียวกันนี้ เรายังปรับสัดส่วนการลงทุนธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันเพิ่มเป็น 5-6% จากเดิมมีเพียง 2% เท่านั้น โดยคงกำลังการกลั่นอยู่ที่ 95,000 บาร์เรล/วัน จากปีนี้ที่มี 120,000 บาร์เรล/วัน แต่จะไปปรับเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์

โดยการปรับโรงกลั่นให้เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะ niche products refinery เพื่อขยายจากที่บางจากฯผลิตเพียงน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นผู้ผลิต UCO (unconverted oil) รายเดียวในประเทศไทย หรือการที่บางจากฯสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสารละลาย (solvent) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำละลาย และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ การผลิตเรซิน

ซึ่งการปรับกระบวนการดังกล่าวลงทุนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากเรายังคงใช้โรงกลั่นที่เรามีทำการเปลี่ยนอุณหภูมิ เราก็จะได้สารละลายตัวนี้มา เราจะทำแบบนี้ในช่วงที่ไม่สามารถผลิตน้ำมันอากาศยาน (Jet) ได้ นอกจากนี้เราเองยังต้องสร้างรายได้เพิ่มให้กับบริษัทอย่างที่เห็นก่อนหน้านี้บางจากฯขายเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ขายน้ำดื่ม ขายกระเป๋า มันเป็นสิ่งที่เราหารายได้เพิ่มช่วงที่น้ำมันราคาถูก

“กลุ่มบางจากฯจะใช้เงิน 50,000 ล้านบาท เป็นงบฯลงทุน 5 ปี (2564-2568) โดยแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าสัดส่วน 60% ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันสัดส่วน 20% ธุรกิจการตลาดสัดส่วน 15% และธุรกิจอื่น ๆ สัดส่วน 5%”

ลุยต่อ Non-oil

ธุรกิจการตลาด เราจะต้องพัฒนาปั๊มน้ำมันให้มีความแปลกตา โดยมีแผนจะขยายปั๊มอีก 100 แห่ง เราจะเปลี่ยนจากเป้าหมายของปั๊มจากเดิมที่เข้าห้องน้ำ ต้องเปลี่ยนผู้ใช้บริการมองปั๊มบางจากเป็นเป้าหมายใหม่ ทางด้านร้านกาแฟอินทนิลจะเพิ่มอีก 180 สาขา ปี 2564 จะครบรอบ 15 ปีของแบรนด์เรามันเป็น nonoil สิ่งที่เราต้องไปโฟกัสขยายมากขึ้นรองรับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่พาร์ตเนอร์หลักทั้งเซ็นทรัลที่เปิดร้าน Tops ในสาขาปั๊มน้ำมันของบางจากฯ รวมถึงแฟมิลี่มาร์ทอีก 30 สาขา ส่วนนี้เราจะต้องขยายกันเพิ่มต่อกันไปอีกในปั๊ม ทั้งนี้ การเซ็นสัญญาพาร์ตเนอร์มีระยะยาวกว่า 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้เราจะมาดูว่า Tops จะขยายอย่างไร

“การเพิ่มพาร์ตเนอร์เราสามารถหาพาร์ตเนอร์ที่หลากหลายได้ ที่เหลือคือความเหมาะสมกับทำเลที่ตั้ง ซึ่งจะเห็นว่าในบางปั๊มอาจมีพาร์ตเนอร์เป็นฟิตเนส แต่พาร์ตเนอร์เหล่านี้ไม่ได้ไปลงทุกปั๊ม เราต้องดูพื้นที่ว่าพื้นที่โซนนั้นเป็นแหล่งที่คนใช้บริการทำกิจกรรมด้านใดบ้าง”

เพิ่มรายได้จากธุรกิจสีเขียว

ปีหน้าเรายังคงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี 2567 และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี 2573 เรามีแผนขยายธุรกิจผ่านนวัตกรรมพลังงานสีเขียวอื่น ๆ

เช่น การบริหารจัดการจักรยานยนต์และสามล้อไฟฟ้า และการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery swapping) โดยตั้งเป้าหมายขยาย Winnonie สตาร์ตอัพให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในกลุ่มบางจากฯเป็น 10,000 คันในปี 2566 และได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการขยายจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า EV charger ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 150 สาขาทั่วประเทศภายในปี 2564

“การที่บางจากฯมุ่งไปสู่การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าสีเขียว เพราะเป็นธุรกิจที่มีเสถียรภาพสูง มีรายได้ที่มั่นคง เราจึงเพิ่มทุนให้ BCPG เต็มสัดส่วนเพื่อเสริมฐานะทางการเงิน แน่นอนว่ามันจะรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”