เขตเศรษฐกิจ “NEC-SEC” ควรไปต่อหรือพอแค่นี้

นิคมอุตสาหกรรมอีอีซี
แฟ้มภาพประกอบข่าว

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว การเริ่มสตาร์ตเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง บวกกับการฟื้นภาคอุตสาหกรรมให้เกิดการลงทุนด้วยอุตสาหกรรมใหม่ ๆ

คือ new S-curve อย่างอุตสาหกรรมอากาศยาน หุ่นยนต์ เชื้อเพลิงชีวภาพ (bio) การแพทย์ ดิจิทัล เพื่อเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ที่มีพื้นฐานการลงทุนอยู่แล้วให้บูมขึ้นมาใหม่ แน่นอนว่า 3 ปีผ่านไป EEC มีการลงทุนแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท เดินมาถึงเกือบครึ่งทาง แต่เศรษฐกิจจะมีเครื่องยนต์เพียงตัวเดียวไม่ได้ นโยบายการปั้น “เขตเศรษฐกิจพิเศษเหนือ-ใต้” จึงถูกดึงขึ้นมาบูมการลงทุนระดับภูมิภาคอีกครั้ง

อนุมัติหลักการ

เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งในขณะนั้นมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนนโยบายเขตเศรษฐกิจระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง

กระทั่งในที่สุดที่ประชุมโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้อนุมัติหลักการเบื้องต้น และเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA) ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ซึ่งจะกระจายความมั่งคั่งในพื้นที่ภาคเหนือ

โดยมีเป้าหมายจะพัฒนาวัฒนธรรม อุตสาหกรรม เพื่อประชาชนจะได้โอกาสสร้างอาชีพและรายได้ในถิ่นฐานตนเองแบบไม่ทิ้งบ้านเกิด ยกระดับรายได้จากผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดระดับโลก และยังควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามอัตลักษณ์พื้นถิ่นเช่นเดิม

ต่อมาในช่วงเดือน ก.ย. 2563 รัฐบาลได้เปิดเผยถึงแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน

เป้าหมายให้เป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน อุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม

แม้ทั้งหมดจะเป็นแผนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 แต่กระบวนการทั้งหมดยังคงอยู่ที่การให้กระทรวงคมนาคมจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนใน “โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge)” ที่คาดจะรู้ผลกลางปี 2566 ดังนั้นแล้ว แผนการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือระนอง ก็คงต้องรอผลการศึกษาอีกถึง 2 ปี

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor : NEEC) กำหนดพื้นที่อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ด้วยมีความโดดเด่นในเชิงพื้นที่โลจิสติกส์ และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ (bio economy)

ซึ่งเชื่อมโยงกับพื้นที่ภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ที่มีการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในหลายพื้นที่มีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบและเชื่อมโยงกับตลาดและการผลิตในจีนตอนใต้ แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ทั้งหมดก็ยังเป็นเพียงแผนนโยบายในกระดาษ ที่ทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม

ต้องมีเขต ศก.พิเศษเหนือ-ใต้

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯ EEC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผลักดันให้เกิดการลงทุนกระจายทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาด้วย

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเสนอแนวคิดที่จะปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC-Creative LANNA) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคอีสาน (NEEC-Bioeconomy) แต่แนวคิดดังกล่าวคอนเซ็ปต์ยังไม่ลงตัว เพราะในพื้นที่ต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัดมีศักยภาพ อุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน จึงไม่ควรที่จะแบ่งเขตตามการปกครองเป็นตัวกำหนด

นโยบายพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับภูมิภาค
นโยบายพัฒนาเชิงพื้นที่ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษระดับภูมิภาค

เช่น ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดามัน สามารถเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ด้านท่องเที่ยวได้แต่ถ้าเป็นสุโขทัยเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีพื้นที่ติดนครสวรรค์ แต่นครสวรรค์ พิษณุโลกไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยว เขาจึงจะประกาศเป็นเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือด้านอะไร นี่จึงเป็นโจทย์ที่ทางรัฐบาลยังต้องหาคำตอบให้ได้

ดังนั้น การที่จังหวัดติดกันแต่อุตสาหกรรมต่างกัน จึงไม่สามารถผลักดันเป็นเศรษฐกิจพิเศษแบบ EEC ได้ เพราะใน 3 จังหวัด EEC นี้ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เขาคือฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมอยู่แล้ว มีอุตสาหกรรมที่ไม่แตกต่างกัน ทั้งด้านการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม ด้านการท่องเที่ยว บวกกับพื้นที่ติดกันมันจึงทำได้

BOI พร้อมหนุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หากจะสร้างความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค เขตเศรษฐกิจที่ถูกตั้งขึ้นเป็นนโยบายเหล่านี้ “ควรที่จะเกิด” ซึ่งบีโอไอเองสามารถและพร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนออกมา

คอนเซ็ปต์ขัดแย้ง-ขาดเจ้าภาพ

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของรัฐบาลเองได้มีการยอมรับว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ทั้งหมดที่ถูกประกาศขึ้นนี้ ดูเป็นเพียงนโยบายที่เขียนลงไปในกระดาษเท่านั้น ถึงแม้จะมีแผนและกำหนดจังหวัดชัดเจน แต่กลับพบว่างานไม่คืบหน้าเท่าที่ควร เพราะไม่ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายรายละเอียดอย่างชัดเจน “ทำให้ขาดเจ้าภาพ”

ซึ่งแตกต่างจากโครงการ EEC ที่มี 3 จังหวัดเป็นเจ้าภาพในฐานะเจ้าของพื้นที่ และมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. สำนักงาน EEC) เป็นผู้กำกับดูแลโครงการ

ขณะเดียวกัน เอกชนยังมีเสียงสะท้อนให้ได้ยินมาตลอดว่า “คอนเซ็ปต์ไม่ตรงกัน” มีการหารือกันหลายครั้งหลายหน่วยงาน เช่น บางจังหวัดอยากที่จะปั้นให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพ แต่พืชเกษตรหลักไม่เพียงพอ ติดปัญหาผังเมือง ห้ามตั้งโรงงาน

จึงอยากดันเป็นเมืองอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร มากกว่าชีวภาพ หรือเช่น บางจังหวัดที่มีการท่องเที่ยวดี แต่ไม่ถูกกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพียงเพราะไม่ได้มีพื้นที่ติดกับจังหวัดหลักที่เป็นกลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

ด้วยปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ทั้ง 3 เขต NEC, SEC และ NEEC จะถอยก็ไม่ได้ แต่จะเดินหน้าก็ไปแบบไร้ผู้นำ