“ฉลู” ปีทองสินค้าเกษตรไทย มีลุ้น GDP 6.6 แสนล้าน

ในปีที่ผ่านมาภาคการเกษตรต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงช่วงกลางปี 2563 ส่งผลให้ผลผลิตพืชและประมงที่สำคัญลดลง รวมถึงปัญหาด้านโลจิสติกส์ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกประเทศชะลอการลงทุนลง

GDP ภาคการเกษตรติดหล่ม ขณะที่แนวโน้มสินค้าเกษตรในปี 2564 จะดีขึ้นจนอาจจะกลับมาเป็นปีทองเกษตรกรอีกครั้งหนึ่ง

2563 ปีแห่งมรสุมเกษตรไทย

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปี 2563 ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง, อ้อยโรงงาน, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน ต่างปรับลดลง ตลาดส่งออกชะลอตัวจากผลกระทบของโควิด-19 มีการใช้มาตรการปิดเมือง การขนส่งชะงักเกิดการปิดด่านการค้าไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปที่ตลาดสำคัญได้ ประกอบกับการปิดสถานประกอบการ การชะงักงันของกิจกรรมการผลิต และเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว รวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การส่งออกฟื้นตัวช้า แต่สิ่งสำคัญก็คือ “เงินบาทแข็งค่า” แตกต่างจากคู่แข่งและปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร ทั้งเก็บผลไม้ แรงงานกรีดยาง จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับมาได้

จนเป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร (จีดีพีภาคเกษตร) ปี 2563 คาดว่าจะมีมูลค่า 649,132 แสนล้านบาท หดตัว 3.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 672,284 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่น่ากังวลมาก หากเทียบกับช่วงปี 2559 เคยหดตัว 5% จากวิกฤตภัยแล้ง ทั้งนี้ พบว่าสาขาพืชหดตัวรุนแรงที่สุดถึง 4.7% ส่วนในปี 2564 คาดว่าจะสามารถขยายตัว 1.3-2.3% หรือราว 657,570.7-664,062 ล้านบาท แต่ยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต่อเนื่องจากปี 2563 เช่นเดิม

ข้าว-ยาง-มัน-ปาล์ม ท้าทายแข่งขันสูง

หากมองโอกาสสินค้าเกษตรปี 2564 ภายใต้มาตรการประกันรายได้ของรัฐบาลทั้งข้าว-ยางพารา-ปาล์ม-มันสำปะหลัง-ข้าวโพด จะเห็นว่ายางพารายังเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการอย่างมาก เพื่อนำไปผลิตเป็น “ถุงมือยาง” จากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น ทำให้ผลิตได้ประมาณ 4.78 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.68 ล้านตัน เนื่องจากต้นยางส่วนใหญ่ให้ผลผลิตสูงและปริมาณน้ำดีขึ้น ดังนั้นคาดว่าจะสามารถส่งออกได้ 4.09 ล้านตัน แต่ต้องประเมินจากการส่งออกยางที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม กับมาตรการทางการค้าจีนและสหรัฐที่ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางไทย

สินค้าข้าว คาดว่าจะส่งออกได้ 5.5-6 ล้านตันข้าวสาร โดยราคาจะใกล้เคียงกับปี 2563 แต่เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอ กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลง ประกอบกับข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง การบริโภคข้าวต่างประเทศผู้นำเข้า อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน หันไปนิยม “ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม” ที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้ และราคาข้าวของเวียดนามก็ได้เปรียบกว่าข้าวไทย

มันสำปะหลัง คาดว่าจะมีผลผลิต 29.88 ล้านตัน ส่วนปริมาณการผลิตและความต้องการใช้ใกล้เคียงกับปี 2563 โดยขณะนี้ จีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักต้องการนำเข้า “มันเส้น” ทดแทนข้าวโพดเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ค่อนข้างมาก แต่เนื่องจากราคาและค่าเงินสูง และไทยยังเผชิญปัญหาโรคใบด่างและภัยแล้ง ผลผลิตมันลดลง คู่ค้าจึงต้องนำเข้ามันสำปะหลังจากกัมพูชา-ลาวทดแทน

ปาล์มน้ำมัน คาดว่าจะมีผลผลิต 16.64 ล้านตัน ความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทำให้มีแนวโน้มว่าราคาจะสูงขึ้น ส่วนตลาดโลกยังต้องติดตามมาตรการลดอัตราภาษีของอินโดนีเซีย ภัยแล้งและสงครามการค้าจีนจะกลับมาซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐเพิ่มขึ้นจนทดแทนการนำเข้าปาล์มหรือไม่

ส่วน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คาดว่าจะผลิตได้ 4.96 ล้านตัน ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นจนไม่เพียงพอ จึงมีแนวโน้มว่าจะส่งออกลดลง ราคาค่อนข้างสูงเกินกว่าราคาประกันรายได้ของรัฐ

ปศุสัตว์ดาวรุ่งปี’64

กลุ่มสินค้าปศุสัตว์ คาดว่าจะขยายตัว 1.0-2.0% การผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่เนื้อ, สุกร, ไข่ไก่, โคเนื้อ และน้ำนมดิบ เนื่องจากความต้องการเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ โดยสินค้าเนื้อไก่เริ่มเห็นการขยายตลาดทั้งในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน รวมถึงเกาหลีใต้ ส่วนเนื้อสุกรยังมีแนวโน้มเติบโต โดยได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในจีน และเพื่อนบ้าน จนต้องนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าประมง คาดว่าจะขยายตัว 0.1-1.1% แม้ว่าการระบาดของโควิดระลอกใหม่จะส่งผลต่อตลาดประมง แต่สินค้าไทยยังได้รับการยอมรับจนถือได้ว่า “วิกฤตโควิดเป็นโอกาส” ที่ตลาดต่างประเทศนำเข้าสินค้าประมงจากไทยเพิ่มขึ้น เพราะเชื่อมั่นด้านมาตรฐานคุณภาพสินค้า รวมทั้งปัจจัยบวกจากความร่วมมือเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ ทำให้ขยายตลาดได้มากขึ้น ดังนั้น รัฐต้องทำงานเชิงรุกให้องค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรปรับตัว

ทางรอดเกษตรยุคโควิด

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติเห็นว่า ภาคการเกษตรยังเป็นภาคที่มีความสำคัญมาก ในปีที่ผ่านมาถือว่า “หนักและยังประเมินมูลค่าความเสียหายลำบาก” จนสินค้าเกษตรหดตัวลงทุกเซ็กเตอร์ จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ช่องทางโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า แทบขายไม่ได้ และการส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ก็เกิดปัญหา “ตู้คอนเทนเนอร์” ตกค้าง ไม่เพียงพอ และการส่งออกชายแดนลำบากมาก “ผมประเมินว่า ปี 2564 ภาคการเกษตรยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของโควิด ยังเป็นปีที่เหนื่อยอีก หากกระทรวงพาณิชย์ไม่หาช่องทางตลาด หรือมีคณะทำงานชุดเฉพาะกิจที่แข็งแกร่ง เกษตรจะยิ่งแย่” ส่วนภาคปศุสัตว์ “ยังมีโอกาส” เพราะหลายประเทศมีความต้องการ อาทิ ไก่สด ไก่เนื้อ ภาคประมง ขอให้รัฐบาลออกมาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอแนะว่า สศก.ต้องสร้างเกษตรกรให้เป็น “นักธุรกิจ” และรัฐก็ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางด้านเจเนอเรชั่นของเกษตรกร สำคัญที่สุดก็คือ ให้เพาะปลูกในสิ่งที่ตลาดชี้ว่า “ปลูกแล้วได้กำไร” ป้อนข้อมูลราคาและต้นทุนให้ชัดเจน เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจได้ชัดเจนแม่นยำ เพราะหลังจากนี้จะเป็นสังคม “data economy” ที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้นำร่องโครงการ 1 ไร่ 1 ล้านบาท เป็นต้นแบบ ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ ยังขาดการบูรณาการ ซึ่งถ้าเราทำงานแล้วธุรกิจรวย แต่เกษตรกรจน หนี้ครัวเรือนสูง “ก็ยังถือว่าล้มเหลว”

ด้าน นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานเกษตรน้อยลง แต่จุดแข็งของประเทศไทยคือ เรามีปราชญ์ชาวบ้านเกษตรที่เก่ง ดังนั้นต้องดึงเทคนิครวมกับคนรุ่นใหม่ ต้องวางยุทธศาสตร์บล็อกเชนเป็นอันดับแรก เพื่อตรวจสอบย้อนกลับบริหารจัดการสินค้าได้แม่นยำ ซึ่งหลายประเทศเริ่มใช้กันแล้ว การตลาดนำการเกษตร เพื่อประเมินรายได้ กำไร ต้นทุน ท้ายที่สุด คือ การแปรรูปสินค้า ยกระดับให้เป็นโปรดักต์พรีเมี่ยม

นายยงยุทธ เลารุจิราลัย ผู้แทนกลุ่ม Young Smart Farmer สะท้อนปัญหาว่า การทำเกษตรปัจจุบันต้องคำนึงตั้งแต่ภาวะอากาศ สภาพแวดล้อม ยิ่งมีโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้เพื่อนที่ทำเกษตรต้องมานั่งวิเคราะห์กัน เราจึงเห็นว่า สิ่งสำคัญก็คือ “ดาต้า” การใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยจำเป็นมาก เพราะสามารถคำนวณได้เลยว่า จากเดิมเมื่อรู้ว่าอีก 3 วันฝนตกจึงแก้ไข แต่เราแก้ไขได้ก่อนฝนตก นี่คือ “เกษตรสมัยใหม่” เพราะเรื่องน้ำคือหัวใจของภาคเกษตร

“ใครสามารถคุมสิ่งแวดล้อมมากที่สุด คนนั้นจะมีโอกาสทางธุรกิจเกษตรมากที่สุดเช่นกัน”