กนอ.การันตี 3 นิคมอุตฯรอด ลุ้นอีก 1 เดือนน้ำสู่ภาวะปกติ

เเฟ้มภาพ

กนอ.ชี้น้ำไม่ท่วม 3 นิคม สหรัตนนคร-บางปะอิน-บ้านหว้าเขื่อนเจ้าพระยายังระบายน้ำ ต่อเนื่อง 2,600 ลบ.ม./วินาที เผย 10 วันข้างหน้าไม่มีฝน-พายุ อีก 1 เดือนเข้าสู่ภาวะปกติ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการลงพื้นที่สำรวจนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร-นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน-นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมอันเนื่องมาจากการเร่งระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาว่า ทุกนิคมอุตสาหกรรมยังอยู่ในภาวะปกติ มีระดับการเตือนภัยเป็น “สีเขียว” ระดับน้ำภายนอกทรงตัวและคาดว่าจะลดระดับลงมาเข้าสู่ภาวะปกติไม่เกินสัปดาห์หน้า ถ้าไม่มีพายุเข้ามาใต้เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์อีก

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การดูแลของ กนอ.ทั้ง 3 แห่งมีความพร้อมที่จะรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แต่จนถึงขณะนี้ระดับการเตือนภัยยังคงเป็นสีเขียว ไม่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมเกิดขึ้น ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครมีคันดินบดอัดบวกเขื่อนเคลื่อนที่ติดตั้งเร็ว 20 ซม. ความสูงทั้งสิ้น 8.2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ความยาว 7 กม. ครอบคุลมพื้นที่ 2,050 ไร่ มีจำนวนผู้ประกอบการ 22 โรงงาน

นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า มีเขื่อนคันดินบดอัดแน่นเสริมด้วยวัสดุป้องกันทนกัดเซาะ (grocell stones gro textile) ความสูง 5.4 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ฐานกว้าง 22 ม. ความยาว 11 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 2,500 ไร่ มีจำนวนผู้ประกอบการ 125 โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีเขื่อนดินบดอัดแน่น โดยสันเขื่อนเป็นผนังคอนกรีตรูปตัวยู (RC flood wall) ความ 6 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ความยาวเขื่อน 10 กม. ครอบคุลมพื้นที่1,962 ไร่ มีจำนวนผู้ประกอบการ 93 โรงงาน

และในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ กนอ.เตรียมลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู เพื่อสำรวจพื้นที่รอบนิคมและประเมินความสุ่มเสี่ยงจากน้ำท่วมด้วย

ด้านนายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงแผนป้องกันน้ำท่วมระยะยาวแบบถาวร จะประกอบไปด้วย 1) โครงการปลูกข้าวเหลื่อมเวลาในพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 ทุ่ง (ทุ่งป่าโมก-ทุ่งบ้านแพน-ทุ่งบางบาล-ทุ่งผักไห่-ทุ่งเจ้าเจ็ด-ทุ่งบางกุ้ง-ทุ่งบางกุ่ม) ขนาด 603,042 ไร่ สามารถรองรับน้ำได้เต็มที่ 1,023 ล้าน ลบ.ม. โดยให้เริ่มทำนาครั้งที่ 1 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เก็บเกี่ยวให้เสร็จภายใน 15 กันยายน จากนั้นกระจายน้ำเข้าพื้นที่นาเพื่อเป็นแก้มลิงชั่วคราว (ก.ย.-ธ.ค.) ทำนาครั้งที่ 2 ปลูกพืชใช้น้ำน้อย (ธ.ค.-เม.ย.)

2) การสร้างประตูกั้นน้ำคลองบางพระครู 1 แห่ง เพื่อกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่ อ.นครหลวง ที่ตั้งของนิคมฯสหรัตนนคร ภายใต้งบฯก่อสร้าง 250 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2561 เสร็จปี 2562 3) สร้างประตูกั้นน้ำ 6 แห่ง เพื่อใช้เปิด/ปิดระบายน้ำจากเมืองน้ำเจ้าพระยา เพื่อกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าพื้นที่ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย ที่ตั้งของนิคมฯบางปู ไฮเทค รวมถึงภายใต้งบฯก่อสร้าง 300 ล้านบาท ที่จะเริ่มก่อสร้างปลายปีนี้ แล้วเสร็จในปี 2561

นายปราโมทย์ พัฒนมงคล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท คาโตเล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่น ภายในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร กล่าวว่า เอกชนยังคงมั่นใจในสถานการณ์และแผนป้องกันน้ำท่วมปีนี้ “ไม่น่าเป็นห่วง” และได้รายงานให้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นรับทราบทุกวันจนกว่าจะเข้าฤดูหนาว สำหรับแผนของบริษัทเอง การเตรียมความพร้อมหากถึงระดับวิกฤตคือเช่าพื้นที่โรงงานชั่วคราวนอกพื้นที่น้ำท่วมสำรองการเก็บสินค้าและแผนขนส่งย้ายสินค้า

สำหรับสถานการณ์น้ำล่าสุด ฝ่ายประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานว่า ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2560 เขื่อนภูมิพลมีปริมาตรน้ำในอ่าง 9,846 ล้าน ลบ.ม. หรือ 73% มีน้ำไหลเข้า 156.57 ลบ.ม./วินาที เขื่อนสิริกิติ์ 8,164 ล้าน ลบ.ม. หรือ 86% ทั้ง 2 เขื่อนยังมีน้ำไหลเข้ารวมกัน 181.32 ลบ.ม./วินาที เหลือพื้นที่เก็บกักน้ำได้อีก 4,962 ล้าน ลบ.ม. ไม่มีการระบาย ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 965 ล้าน ลบ.ม. หรือ 103% มีน้ำไหลเข้า 26.22 ลบ.ม./วินาที ต้องระบายออก 16.42 ลบ.ม./วินาที และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 943 ล้าน ลบ.ม. หรือ 98% มีน้ำไหลเข้า 30 ลบ.ม./วินาที ต้องระบายออก 30.28 ลบ.ม./วินาที

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร (ใต้เขื่อนภูมิพล) มีผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย คาดการณ์ ณ สถานี C.2 ปริมาณน้ำไหลผ่านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 3,150 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 27 ตุลาคม ทำให้ต้องระบายเข้าคลองฝั่งตะวันตก (459 ลบ.ม./วินาที) กับคลองฝั่งตะวันออก (171 ลบ.ม./วินาที) เพื่อควบคุมการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้เกินไปกว่า 2,600 ลบ.ม./วินาที โดยวันนี้ระบายอยู่ที่ 2,598 ลบ.ม./วินาที น้ำมาถึงสถานีบางไทรอยู่ที่ 2,633 ลบ.ม./วินาที

ส่วนการผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำหลากพบว่า ทุ่งบางระกำ 400 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำไปแล้ว 450 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ใต้จังหวัดนครสวรรค์ 12 ทุ่ง 1,514 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำไปแล้ว 1,183 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือพื้นที่รับน้ำได้อีก 331 ล้าน ลบ.ม. หรือรับน้ำไปแล้ว 76% คาดการณ์ในอีก 2 อาทิตย์จะเต็ม 100% และในระยะต่อไปหากไม่มีฝนตกเพิ่มขึ้นมาอีกใน 10 วัน เขื่อนเจ้าพระยาจะลดระดับการระบายน้ำลงไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที ใน 15 วัน 2,200 ลบ.ม./วินาที ใน 20 วัน 2,000 ลบ.ม./วินาที และใน 30 วันก็จะลดลงเหลือระดับปกติไม่เกิน 700 ลบ.ม./วินาที (หน้า 2, 4)