ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาเข้า PPP ใช้พ.ร.บ.EEC ให้แอร์บัสถือหุ้นเกิน 49%

แฟ้มภาพ

ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) มูลค่า 11,600 ล้านบาท ประเดิมร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน PPP โครงการแรกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมเปิดสัดส่วนผู้ถือหุ้นพิเศษให้ “แอร์บัส” เกิน 49% ตาม พ.ร.บ. EEC คาดก่อสร้างเสร็จเปิดใช้งานในปี 2564 ตามมาด้วยโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก-รถไฟความเร็วสูง และท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุดระยะ 3

นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานว่า โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) ได้มีการลงนามความร่วมมือกับทางแอร์บัสไปเมื่อต้นปี 2560 ขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ PPP ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่ออนุมัติหลักการโครงการแล้ว โดยกลางเดือนพฤศจิกายนนี้จะจัดทำรายงานรายละเอียดโครงการเสนอที่ประชุม จากนั้นในเดือนมกราคม 2561เตรียมประกาศเชิญชวนนักลงทุน พอถึงเดือนเมษายนก็จะลงนามสัญญาหลังจากคัดเลือกนักลงทุนได้แล้วและคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2562 หลังตั้งบริษัทร่วมทุนและสร้างเสร็จพร้อมเปิดงานใช้ปี 2564

“ในช่วงปลายปี 2561 หรือระหว่างไตรมาส 1/2562 จะมีการทำสัญญาจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุน (Joint Venture) ระหว่างการบินไทยกับแอร์บัส ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้รูปแบบการลงทุน PPP โดยจะเสนอให้ กรศ.พิจารณาเปิดสัดส่วนการลงทุนให้แอร์บัสพิเศษภายใต้ พ.ร.บ. EEC เนื่องจากใน พ.ร.บ. EEC ได้ระบุไว้ให้เป็นการเฉพาะว่า โครงการลงทุนประเภทใดที่เห็นว่าสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมในประเทศ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือความร่วมมือที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่ EEC สามารถเสนอให้ กรศ.พิจารณาและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนให้ได้ โดยไม่จำกัดการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 49%” นายโชคชัยกล่าว

ทั้งนี้ โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) จะก่อให้เกิดโครงการลงทุนอื่น ๆ ตามมา เช่น อาคารโรงซ่อมบริภัณฑ์ (Back Shop), โรงพ่นสี (Painting Shop), พื้นที่ซ่อมบำรุงระดับลานจอด (Aircraft Parking Area และ Air-craft Swing Compass Area) ที่สามารถรองรับเครื่องบินรุ่น A380 ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตอนนี้ได้

ด้านเรืออากาศโทดิเรก อินเอียม ผู้อำนวยการฝ่ายจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอัจฉริยะ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) จะมีมูลค่าลงทุนทั้งหมด 11,600 ล้านบาท โดยทางภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ระบบสาธารณูปโภค มูลค่า 7,600 ล้านบาท เอกชนลงทุนเครื่องมืออุปกรณ์ 4,000 ล้านบาท

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบสำคัญ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) แผนการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี 2) หลักการสำหรับแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO Campus) 3) หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 (EEC Track) และประกาศลำดับรอง 5 ฉบับ ซึ่งจะเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ดใหญ่ EEC) เพื่อรับทราบและขออนุมัติ

“หลังจากขั้นตอนของระเบียบการร่วมทุน PPP มีความชัดเจน เราก็จะเร่งให้เกิดการลงนามการร่วมทุนกับเอกชนใน 5 โครงการหลักใน EEC ภายในเดือนกันยายน 2561 ประกอบด้วย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (Aerotropolis), โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ, โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3, โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภามูลค่าลงทุนรวมทั้งหมด 400,000 ล้านบาท” นายคณิศกล่าว

ขณะเดียวกันก็ได้เร่งจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อป้อนแรงงานสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศในพื้นที่ EEC ที่ต้องสร้างขึ้นมาอีก 63,567 คน ภายใน 5 ปี (ปี 2560-2564) มารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญ โดยแผนงานหลักคืออบรมแรงงานเก่าให้มีทักษะเพิ่ม ตามสร้างแรงงานใหม่ระยะสั้น 3-6 เดือน ขณะเดียวกันเตรียมนำหลักสูตรฝึกอบรม 4 หลักสูตรตั้งแต่ระดับปริญญาตรี อาชีวศึกษา การพัฒนาครูฝึก แคมปัสนอกสถานที่ระดับประถม เพื่อสร้างแบรนเนอร์ขึ้นมา