“เจ้าสัวเจริญ”โดดประมูลโรงไฟฟ้าSPP

9 กลุ่มชิงประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm 300 เมกะวัตต์ บี.กริม/ซุปเปอร์บล็อก/กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี้/ดั๊บเบิ้ลเอ/ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง และมิตรผล ด้าน “เจ้าสัวเจริญ” โผล่ส่งไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่-บางไทร ภูมิพัฒน์ แข่งประมูลด้วย 5 โครงการในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในแบบ SPP Hybrid Firm หรือการผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป รวม 300 เมกะวัตต์ (MW) ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้ารูปแบบ FiT หรือ Feed In Tariff ที่ 3.66 บาท/หน่วย และเปิดให้ผู้สนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าเมื่อวันที่ 16-20 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดมีผู้สนใจยื่นประมูลเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ สามารถแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด 2) บริษัทซุปเปอร์บล็อก จำกัด (มหาชน) 3) กลุ่มบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ 4) กลุ่มบริษัท ดั๊บเบิ้ลเอ จำกัด (มหาชน) 5) กลุ่มบริษัท ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 6) กลุ่มนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ 7) กลุ่มบริษัทมิตรผลและโรงงานน้ำตาลอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคเหนือ 8) กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และ 9) กลุ่มบริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นเดียวกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่

“เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ครั้งนี้จะมีการแข่งขันค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เพราะมีทั้งกลุ่มโรงงานน้ำตาล เช่น บริษัท มิตรผล ที่มีจุดแข็งในเรื่องของวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า และโรงงานสุราของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ ที่คาดว่าสามารถกดราคาค่าไฟฟ้าได้ต่ำกว่าราคาประกาศของ กกพ.ได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้รับการยืนยันว่า ได้ยื่นประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm รวม 3 โครงการ โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ใช้ไม้สับและกะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิง และยังใช้ “ส่าเหล้า” จากโรงงานสุรามาหมักเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมด้วย โดยพื้นที่ตั้งโรงงานอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครืออีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ ได้ยื่นประมูลเช่นกันรวม 2 โครงการ โดยที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งนี้ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ มองว่าแม้ว่าการแข่งขันครั้งนี้สูงมาก แต่ก็เชื่อมั่นว่าความพร้อมทางด้านเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่บริษัทเป็นผู้คิดค้นเองนั้น จะทำให้บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูล

ด้าน นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ยื่นเข้าร่วมประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm ทั้งยื่นประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid ในนาม บี.กริมเพียงรายเดียว แต่มีการยื่นประมูลร่วมกับพันธมิตรรายอื่น โดยยื่นเสนอไปเต็ม 300 MW ตามที่รัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า เป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์ผสมกับไบโอแมส และมีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเสริม โดยมีทำเลที่ยื่นมีทุกภาค ทั้งภาคใต้ กลาง เหนือ อีสาน อย่างไรก็ตาม การยื่นประมูลครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพาร์ตเนอร์คือ บริษัท China Energy Engineering Corporation (CEC China) มาบริหารคำนวนด้านต้นทุน รวมทั้งมีความพร้อมเรื่องต้นทุนดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ บี.กริมสามารถเสนอราคาขายไฟฟ้าได้ราคาต่ำ


“กกพ.กำหนดราคากลางอัตราค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.66 บาท/หน่วย จริง ๆ เป็นราคาที่รัฐใช้ฐานคำนวณจากเชื้อเพลิงไบโอแมส การคำนวณราคาเราต้องลดต้นทุนจริง ๆ พอดีเราค่อนข้างจะมีโอกาสดีกว่าคนอื่นตรงที่ว่า บี.กริมมีความพร้อมเรื่องต้นทุนเราไม่สูง ต้นทุนดอกเบี้ย มีตัวช่วยเยอะ แต่กำไรปริ่ม รวมถึงการร่วมมือกับ CEC China ซึ่งเป็นหนึ่งในสองรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่ของจีน เราสามารถมั่นใจได้ว่าทำได้ราคาถูก และ CEC China มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (energy storage) โดยมีโรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิต ทันสมัยใหญ่มาก นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรอื่น ๆ ที่จะมาร่วมทำโรงไฟฟ้าไบโอแมสด้วย”