แพปลาร้องรัฐหนุนสินเชื่อ ซื้อเครื่องชั่งใหม่รับอียูตรวจย้อนกลับ

อียูยังคายพิษไม่เลิก เตรียมตรวจเข้มระบบตรวจสอบย้อนกลับ บีบแพปลาไทยต้องใช้เครื่องชั่งน้ำหนักปลามาตรฐานสูงเครื่องละ 4-5 แสนบาท และคัดแยกชนิดปลาอย่างละเอียด ด้าน “ฉัตรชัย” วอน “แพปลา” ให้ความร่วมมือ เพื่อความยั่งยืน

จากการที่คณะกรรมาธิการด้านการประมงและทะเล (DG MARE) ของสหภาพยุโรป (อียู) จะเดินทางมาตรวจสอบการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทยในต้นเดือน พ.ย.นี้ ว่ามีความคืบหน้ามากเพียงใด โดยจะเน้นตรวจสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงจากเรือประมงที่มาขึ้นท่าเทียบเรือหรือแพปลา รวมทั้งการส่งเข้าโรงงานแปรรูปสินค้าประมงต้องโปร่งใสนั้น

 

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการได้ลงพื้นที่ศูนย์ตรวจสอบเพิ่มความเข้มงวดในกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ ทั้งระบบการตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า-แจ้งออก (PIPO) เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือ การควบคุมการขนถ่ายสัตว์น้ำ การบันทึกจำนวนสัตว์น้ำซึ่งได้ทำการทดลองติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนัก (smart scale) ที่มีความแม่นยำสูง นำร่องครั้งแรกที่องค์การสะพานปลา (อสป.) จ.สงขลา และที่ท่าเรือ อสป.สมุทรสาคร รวมทั้งระบบการคัดแยกปลาแต่ละชนิดที่ซื้อขายก่อนส่งโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โดยได้ขอความร่วมมือการทำงาน การใช้โปรแกรม จากท่าเทียบเรือหรือแพปลาเอกชนด้วย

“กระบวนการทำงานต้องก้าวหน้ามากขึ้น และอยากเชิญชวนแพปลาเอกชนมาซื้อเครื่องชั่งเพื่อความแม่นยำในการชั่งและตรวจสอบสัตว์น้ำ วันนี้การแก้ไขเดินหน้าไปได้ดีมาก ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบการปกครอง อย่างไรก็ดี ยังเน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลชุดนี้คืออยากเห็นความยั่งยืนของทรัพยากร อียูจะมาดูการตรวจสอบย้อนกลับ มาดูระบบ ผมไม่เคยคาดหวังว่าจะปลดใบไหน จะเหลืองหรือแดงแต่สิ่งที่อยากเห็นคือความยั่งยืน”

แหล่งข่าวจากท่าเทียบเรือหรือแพปลา ประมงพรพีรพัฒน์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐให้แพปลาเอกชนติดตั้งเครื่องชั่งน้ำหนักมาตรฐานสูง ทราบมาว่าราคาค่อนข้างสูงถึงเครื่องละ 4-5 แสนบาท เป็นการสร้างภาระให้กับภาคเอกชนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ภาครัฐควรจะมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำมาสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาแพปลาลงทุนปรับตัวค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงท่าเทียบเรือหรือแพปลาให้ถูกสุขอนามัย และสวัสดิการแรงงานพนักงาน


ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ล่าสุด ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้เรียกผู้ประกอบการท่าเทียบเรือหรือแพปลาภาคเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งผู้บริหาร อสป.มาสัมมนาเรื่องภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของแพปลาเพื่อแก้ปัญหา IUU ในวันที่ 18-19 ต.ค. 2560 ที่พัทยา ก่อนที่อียูจะมาตรวจสอบต้นเดือน พ.ย.นี้ ทั้งนี้ นอกจากการตรวจระบบการตรวจสอบย้อนกลับแล้ว อียูจะมาดูความคืบหน้าในการเร่งขึ้นทะเบียนเรือประมงผิดกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค. 2561 เพื่อทำให้ประเทศไทยออกจากการประเมินใบเหลือง นอกจากนี้ยังตรวจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหาทุกด้าน เพื่อให้ไทยปรับอันดับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นเป็นเทียร์ 2 ให้ได้ในปีหน้า