สัมภาษณ์
เนปาลและไทยต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมายาวนาน และให้ความนิยมและชื่นชอบสินค้าไทยเป็นอย่างมาก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายขคนาถ อธิการี เอกอัครราชทูตเนปาล ประจำประเทศไทย ถึงทิศทางและแนวนโยบายด้านการค้า และการลงทุนของเนปาล
Q : ความสัมพันธ์ด้านการค้ากับไทย
ไทยและเนปาลมีความสัมพันธ์ ด้านการค้า การส่งออก มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันเนปาลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 104 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา และมัลดีฟส์ และแม้ว่าการค้า การลงทุน ของทั้งสองประเทศไม่สูงมากนัก แต่เนปาลพร้อมให้การต้อนรับและสนับสนุน
นักลงทุนไทยอย่างเต็มที่ โดยโอกาสที่จะได้รับ คือ สามารถลงทุนเพื่อการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 ได้ เช่น ชายแดนทางเหนือติดกับจีน ซึ่งจีนให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับเนปาลในสินค้ากว่า 100 รายการ ส่วนด้านชายแดนทางใต้ติดกับอินเดีย ผู้ส่งออกจะได้สิทธิพิเศษทางภาษี ถือเป็นการช่วยลดต้นทุนการส่งออกได้อย่างมาก
นอกจากนี้ เนปาลยังขาดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมหลายด้าน ทั้งเทคโนโลยี การบริหารจัดการ นวัตกรรม และอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้ผลิตได้ไม่เพียงพอความต้องการ และต้องนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าจากไทย ซึ่งประชากรเนปาลให้ความนิยมแทบจะทุกชนิด หากไทยเข้าไปลงทุนจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมด้านเทคโนโลยีภายในประเทศเนปาลได้
Q : การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
ทางรัฐบาลเนปาลให้การสนับสนุน ส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการค้า อุตสาหกรรม การส่งออก โดยให้สิทธิพิเศษ เช่น ด้านภาษี มีการจัดโซนในการลงทุนอุตสาหกรรมที่สำคัญ พร้อมให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกด้านเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่จุดบริการ สำหรับนักธุรกิจไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุน แต่ยังไม่มั่นใจสามารถสอบถามได้ที่สถานทูตเนปาลประจำประเทศไทย ทั้งนี้ เนปาลถือเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพียงพอที่นักลงทุนจะเข้าไป เช่น พลังงาน เสื้อผ้า โดยค่าแรงงานที่เนปาลถูก และมีเพียงพอ
Q : การลงทุนที่น่าสนใจ
ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเนปาลอันดับต้น ๆ เช่น อินเดีย สหรัฐ และจีน ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนด้านพลังงาน นอกจากนั้น เป็นการลงทุนในภาคบริการ เช่น การศึกษา สุขภาพ โรงแรม และด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งเนปาลเป็นประเทศที่อยู่ในเส้นทางโครงการ One Belt, One Road (OBOR) ของจีน และจะมีโครงการลงทุนรถไฟ เส้นทางจากจีนเข้ามากาฐมาณฑุ อนาคตจะทำให้การขนส่งระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น ขณะที่เส้นทางการขนส่งระหว่างเนปาล-อินเดีย จะมีการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกเช่นกัน
ปัจจุบันไทยเข้าไปลงทุนในเนปาลยังน้อยมากประมาณ 15 ราย ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ซึ่งหากไทยจะเข้าไปยังมีช่องทางในการทำการค้า การลงทุน อยู่มาก เพราะเนปาลเปิดกว้างให้กับนักลงทุนอยู่แล้ว สังเกตจากการจัดงานแสดงสินค้าที่ผ่านมา สินค้าไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคในเนปาล ทั้งนี้ เนปาลมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน แม้ผู้บริโภคภายในประเทศไม่มาก แต่ผู้ส่งออกสามารถขยายตลาดไปในจีน อินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกว่า 1,000 ล้านคน
Q : สินค้าที่เนปาลนิยมนำเข้าจากไทย
สินค้าที่เนปาลนำเข้าจากไทย และเป็นที่ชื่นชอบอย่างมาก เช่น เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เป็นต้น ส่วนสินค้าเนปาลที่ส่งมาไทย เช่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เนื้อสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เครื่องดนตรีและของเล่น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น
สำหรับการค้าระหว่างไทย-เนปาล ในรอบเดือนสิงหาคม 2560 เพิ่มขึ้น มีมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 5.3610 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยนำเข้าสินค้าจากเนปาล 0.0744 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าไปเนปาล 5.2866 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยได้ดุลการค้า (มกราคม-สิงหาคม 2560) 5.2122 ล้านเหรียญสหรัฐ มีมูลค่าการค้ารวม 43.44 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม เนปาลเป็นประเทศขนาดเล็กและมีขนาดเศรษฐกิจที่ยังไม่เติบโตมาก รายได้หลักมาจากเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว จึงต้องการดึงนักลงทุนหลายด้านเข้าไป โดยรัฐบาลเนปาลพร้อมให้การส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสในการเข้ามาของต่างชาติ และเนปาลถือเป็นประตูเศรษฐกิจที่ดีในการส่งออก ทำการค้าไปยังประเทศใกล้เคียง เป็นโอกาสอันดับที่ไทยสนใจจะเข้าไปขยายตลาด และเปิดโอกาสทางการค้าในอนาคต