SMEs เข้าไม่ถึงกองทุน 2 หมื่นล. จี้รัฐแกนิยามโยงสู่ซัพพลายเชน S-curve

ส.อ.ท.จี้แก้ “นิยาม S-curve” เกณฑ์ปล่อยกู้เงินกองทุน 2 หมื่นล้านใหม่ ให้รวมถึงซัพพลายเชนของ S-curve หลัง SMEs ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์หมดสิทธิ์กู้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทาง ส.อ.ท.ได้หารือในที่ประชุมคณะสานพลังประชารัฐ กลุ่มการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (SMEs & startup) หรือกลุ่ม D2 รวมถึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะผู้บริหารกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้มีการพิจารณาข้อจำกัดและความไม่ชัดเจนของการนิยามประเภทอุตสาหกรรมที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ใหม่ เนื่องจากกองทุนกำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะประเภทกิจการหรือที่เป็น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) นั้น ส่งผลให้ SMEs ส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น จึงควรมีการจำกัดความขอบเขต หรือ “นิยามคำว่า S-curve ใหม่” ที่ใช้เฉพาะเกณฑ์ในการพิจารณาของกองทุนนี้เท่านั้น และควรตีความคำนิยามให้รวมไปถึงการปล่อยกู้ให้ SMEs ที่เป็นซัพพลายเชนของ S-curve ด้วย

“ที่ผ่านมาการพิจารณาประเภทอุตสาหกรรมไปเน้น S-curve มากไป ทำให้ SMEs ยังเข้าไม่ถึง อยากให้จำกัดความไปเลยว่ารายไหนเป็นซัพพลายเชนของ S-curve เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอกำหนดว่าไม่ได้เป็น S-curve แต่มี SMEs บางรายสามารถพัฒนาเส้นใยสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น S-curve ควรพิจารณาปล่อยกู้ให้ SMEs ที่เป็นซัพพลายเชนของ S-curve ด้วยแล้วช่วงสิ้นปีมาประเมินผลอีกครั้งว่าได้ผลอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม SMEs ต้องเร่งปรับตัว จะผลิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ภาคบริการเข้าไปเสริม หรือนำวงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA หรือ Plan Do Check Act) มาใช้ ซึ่งจะเข้าไปหารือกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงการนำสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ มาช่วยพัฒนาไปสู่การเป็น super SMEs

นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กองทุน 20,000 ล้านบาท, กองทุน Transformation Loan (15,000 ล้านบาท), กองทุนฟื้นฟู (2,000 ล้านบาท), กองทุนพลิกฟื้น (1,000 ล้านบาท) มีรูปแบบความช่วยเหลือต่างกัน แต่เป้าหมายเหมือนกัน คือ ช่วยให้ SMEs ไทยแข็งแรง

กองทุน 20,000 ล้านบาท ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานกองทุนขึ้นมา 3 ชุด โดยเฉพาะชุดที่ 1 คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และยังมี ส.อ.ท.จังหวัด หอการค้าจังหวัด พาณิชย์จังหวัด ฯลฯ ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ ดังนั้น ในแต่ละจังหวัดได้ประกาศธุรกิจ ประเภทกิจการ อุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาในพื้นที่นั้น ๆ แล้ว เมื่อคณะอนุกรรมการมีอำนาจและพิจารณาแล้ว สามารถจะกำหนดประเภทกิจการในประกาศของกองทุนแต่ละจังหวัดได้ เช่น S-curve ต้องเป็น SMEs ที่มีเทคโนโลยีนวัตกรรมในการผลิต แต่ทั้งนี้ SMEs ทั้งหมดจะต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด จดทะเบียนการค้านิติบุคคล ไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ไม่ติดเครดิตบูโร มีความสามารถในการชำระคืน และต้องมีศักยภาพ

“เนื่องจากการดำเนินงานของกองทุนเดินมาได้เพียงไม่กี่เดือน แต่สิ่งที่สะท้อนชัดเจน คือ ตอนนี้ได้รับรายงานล่าสุดว่า ยอดขอสินเชื่อวงเงินสูงถึง 17,000 ล้านบาท สูงกว่าวงเงินที่กองทุนกันเอาไว้ที่จะใช้ปล่อยเข้าระบบคือ 15,000 ล้านบาท เพราะส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาทจะเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมโครงการพัฒนา SMEs แต่ที่เห็นว่ายอดอนุมัติเงินออกมาน้อย เพราะบางรายไม่ตรงหลักเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ต้องการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน, กิจการเป็น NPL ซึ่งกลุ่มที่ไม่ผ่านการพิจารณาเหล่านี้จะแนะนำให้เข้าไปใช้กองทุนที่เหลืออื่น ๆ ที่รัฐมี เช่น กองทุนฟื้นฟู เป็นต้น”


แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า รัฐเตรียมนำกลไกการเชื่อมโยงระหว่าง SMEs ไปสู่ S-curve ภายใต้นโยบาย connected industries เช่น การพัฒนาและดึงมาเป็นซัพพลายเชน และได้หารือกับ 3 บริษัทใหญ่ จากอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น (METI) เมื่อเดือนตุลาคม 2560