MOU คืออะไร? บันทึกความเข้าใจ ที่เป็นเหมือนสัญญาใจ

MOU คืออะไร
MOU คืออะไร?
คอลัมน์ แตกประเด็น  โดย สมชาย หาญหิรัญ กระทรวงอุตสาหกรรม

ไม่ง่ายเท่าไรนักที่จะพยายามหาคำอธิบายคำว่า “บันทึกความเข้าใจ” หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ที่กระชับ เข้าใจง่าย และครบตามความเข้าใจตามที่ผมหรือคนอื่น ๆ ที่เคยเกี่ยวข้องและใช้เครื่องมือนี้มาแล้วหลายครั้งหลายคราเข้าใจ

และยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะพยายามอธิบายความแตกต่างกับความตกลงตัวอื่น ๆ ที่คล้ายกัน เช่น letter of intent หรือ memorandum of cooperation หรือ letter of cooperation หรือ Memorandum of Agreement (MOA) เพราะที่ฟัง ๆ ดูแล้ว แยกออกจากกันไม่ง่ายนัก

อย่างไรก็ตาม ที่เห็นกันเยอะ ๆ ก็คือ MOU บันทึกความเข้าใจ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วทั้งหมดนั้นก็มีวัตถุประสงค์เหมือน ๆ กัน คือ เป็นกรอบความร่วมมือ เป็นลักษณะของความสมัครใจที่อีกฝ่ายหนึ่งจะดำเนินการอะไร อย่างไร เมื่อไร และอีกฝ่ายหนึ่งรับรู้เข้าใจ

หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ทำตาม MOU นั้น อีกฝ่ายเรียกร้องได้หรือไม่นั้น ต้องดูเป็นกรณี ๆ ไป ไม่ว่าบันทึกนั้นจะเป็นอะไร เรียกว่าอะไร แต่ตอนทำกันนั้นหากมีลักษณะการผูกพันทางกฎหมาย ก็ถือว่ามีพันธะ ถ้าไม่มีก็ถือเป็นอันเข้าใจว่าเป็นความร่วมมือที่ไม่มีพันธะทางกฎหมายแต่อย่างใด

ประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมอยากจะบอกว่า MOU มีประโยชน์มากมาย และบ่อยครั้งเป็นใบเบิกทางหรือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ และสืบสายสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันกับหลาย ๆ หน่วยงาน และหลาย ๆ ประเทศมาแล้ว และกว่าที่ร่างของ MOU แต่ละฉบับสามารถตกลงกันได้ในเนื้อหานั้น คุยกันนาน และยิ่งระหว่างประเทศด้วยแล้ว เรื่องภาษา คำศัพท์ ขอบเขต หรืออื่น ๆ มีให้หารือกันมาก และกว่าตกลงกันได้ใช้เวลาและการหารือพอประมาณ เพราะหากทั้ง 2 ฝ่ายตั้งใจที่จะทำจริง ๆ ในสิ่งที่จะบรรจุลงไปใน MOU ดังกล่าวก็ต้องมีสิ่งที่ตนเองอยากได้ความร่วมมือจากอีกฝ่าย

ตัวอย่าง MOU

ผมขอยกตัวอย่าง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมมี MOU กับ Japan Automotive Research Institute (JARI) เรื่องความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ทางไทยขอบรรจุเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้านการทดสอบยานยนต์เพื่อรองรับการสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์ในประเทศไทย ซึ่งหลังจากลงนามเมื่อคราวท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นำทีมธุรกิจไทยไปเยือนญี่ปุ่นปลายปี 2558

และเมื่อต้นปี 2559 ถัดมา 2 เดือน เราก็จัดทีมทำงานกับ JARI ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญและภาคเอกชนมาทำงานกับกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องของเรา รวมทั้งมีทีมของเราไปทำงานที่ศูนย์ทดสอบในญี่ปุ่นของ JARI จนวันนี้เรามีทีม มีระบบการพัฒนาบุคลากรที่พร้อมในระดับหนึ่ง สำหรับการก่อตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์ที่เราจะมีในอีกปีสองปีข้างหน้า

หรือการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมลงนาม MOU กับจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่นสิบกว่าจังหวัดนั้น ทางญี่ปุ่นก็ใช้ MOU ดังกล่าวเป็นใบเบิกทางเข้ามา เพื่อความร่วมมือในการให้นักธุรกิจญี่ปุ่นในจังหวัดของตนเข้ามาลงทุนได้ง่าย

และหากมีปัญหาอะไรของนักลงทุนจากจังหวัดของเขาที่อยู่ในประเทศไทยก็จะถูกนำมาขอความร่วมมือและหารือเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป เช่นเดียวกับเราก็ใช้ MOU ดังกล่าวเบิกทางทำ business matching ในจังหวัดต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จหลายราย ซึ่งแต่ละปีก็จะมีจังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่นขอทำ MOU นี้กับหน่วยงานของไทยมากขึ้นทุกปี

ดังนั้น ความเข้าใจที่จะทำงานและร่วมมือกันบันทึกลงในแผ่นกระดาษ เป็นเพียงสัญญาใจของ 2 ฝ่ายที่จะทำงานร่วมกันในสิ่งที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะเรียกชื่อกระดาษแผ่นนั้นว่าอย่างไร ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราตั้งใจและพยายามมากเพียงใดที่จะใช้ประโยชน์สัญญาใจนี้อย่างไรต่างหาก