ลุ้นสหรัฐต่อโครงการจีเอสพี ไทยใช้สิทธิไปกว่า 2,622 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมการค้าต่างประเทศ เผย รอลุ้นสหรัฐต่อโครงการจีเอสพีปี 2564 ขณะที่ไทยใช้สิทธิไป 645 รายการ มูลค่า 2,622 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการใช้สิทธิ FTA และ GSP 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลง 14.76%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีที่สหรัฐให้กับ 26 ประเทศทั่วโลกกว่า 2,660 รายการ ซึ่งเป็นการให้ฝ่ายเดียว โดยประเทศไทยใช้สิทธิไปกว่า 645 รายการ มูลค่าอยู่ที่ 2,622 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการรอผลประกาศของสหรัฐว่าจะต่ออายุโครงการหรือไม่ ในส่วนของผู้ส่งออก ผู้ประกอบการไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ส่งหนังสือเพื่อให้สหรัฐต่ออายุโครงการออกไปอีก ซึ่งได้ส่งหนังสือไปแล้วถึง 3 ครั้ง เนื่องจากโครงการหมดอายุโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี หากสหรัฐมีการประกาศต่ออายุโครงการผู้ส่งออกที่ส่งออกสินค้าในอัตราภาษีนำเข้าที่มีการเรียกเก็บ สามารถขอภาษีย้อนหลังได้ทั้งหมด ดังนั้น ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการของสหรัฐต่อไป ส่วนการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น กรมฯได้ดำเนินการดูแลและจัดทำเพื่ออำนวตความสะดวก ลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเรื่องของการขอหนังสือนำเข้า-ส่งออก ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการและจัดทำงบประมาณเพื่อนำมาจัดทำโดยจะเป็นรูปแบบออนไลน์ไม่ต้องเดินทางมาที่กรมฯ และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากโควิด-19 คาดว่าในปี 2565 จะนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

“การประกาศอาจจะช้าบ้างซึ่งอาจจะใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสหรัฐ เพราะสหรัฐพึ่งผ่านการเลือกตั้ง และการดำเนินการดังกล่าวมีขั้นตอนและขอความเห็นชอบจะประกาศทันทีไม่ได้ ดังนั้น อาจจะต้องรอ”

ขณะที่ การรายงานการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2563 โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 45,609.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.27 แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ 9 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 14.76

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่า 42,337.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 15.85 มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 76.68 โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) จีน (มูลค่า 14,445.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) อาเซียน (มูลค่า 13,636.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 4,858.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 4,765.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 2,373.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (ร้อยละ 100) 2) อาเซียน-จีน (ร้อยละ 91.27) 3) ไทย-เปรู (ร้อยละ 86.49) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (ร้อยละ 82.24) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (ร้อยละ 71.62) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ (ลำไย เงาะ ลางสาด) รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน เครื่องปรับอากาศ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มันสำปะหลัง เป็นต้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง มกราคม-กันยายน 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 3,271.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.44 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 71.30 ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,905.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ* เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.63 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 71.78

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 238.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.19 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 60.55 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำสับปะรด ปลาทูน่ากระป๋อง กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 102.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.30 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 81.74 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง ข้าวที่สีบ้างแล้ว/สีทั้งหมด และนอร์เวย์ มีมูลค่าก ารใช้สิทธิฯ 24.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.96 และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 100 สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ อาหารปรุงแต่ง ข้าวโพดหวาน ข้าว สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ GSP สูง อาทิ สับปะรดกระป๋อง ถุงมือยาง พืชและผลไม้ปรุงแต่ง อาหารปรุงแต่ง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เลนส์แว่นตา ล้อและส่วนประกอบของยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สินค้าที่เติบโตต่อเนื่องและเป็นดาวเด่นของการส่งออกไทยยังคงเป็นสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และเกษตรแปรรูป โดยสามารถส่งออกไปยังหลายตลาดที่ไทยมีความตกลงฯ อาทิ เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊ซ เช่น นม นมถั่วเหลือง (อาเซียน) น้ำตาลที่ได้จากอ้อย (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน, ไทย-ชิลี) เนื้อ เครื่องใน หรือเลือดของไก่ (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี ) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) มะนาวฝรั่งและมะนาว (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ขนมปัง เพสทรี เค้ก บิสกิตและขนมจำพวกเบเกอรี่ (อาเซียน-ญี่ปุ่น)