ส่งออก “ยูเค” หลัง Brexit 4 กลุ่มสินค้าไทยได้หรือเสีย

การส่งออกสินค้าไทย
PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

การแยกตัวของสหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit อย่างเป็นทางการได้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ภายหลังจากอียูและยูเคได้บรรลุข้อตกลงระหว่างวันเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563

แม้ว่า “ยูเค” อาจจะไม่ใช่ตลาดการค้าที่มีขนาดใหญ่นักหากเทียบกับตลาดอียู โดยในปี 2562 ไทยมีการค้ากับยูเคเพียง 6,264.6 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 1.30% ของการค้าทั้งหมดของไทย ขณะที่ไทยมีการค้ากับอียู 38,227.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 10 %

แต่ “ยูเค” ถือว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอียู และเป็นตลาดหลักสำหรับสินค้าไก่แปรรูปรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า และยังเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น การแยกตัวดังกล่าวย่อมส่งผลต่อการส่งออกไทยตามไปด้วย

นโยบายการค้าใหม่หลัง Brexit

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า Brexit ทำให้ยูเคต้องออกจากสหภาพศุลกากรและระบบตลาดเดียวของอียูแลกกับการได้อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนในเรื่องสำคัญคืนมา เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าและคน สิทธิในการทำประมงในน่านน้ำ การไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลยุติธรรมของยุโรป เป็นต้น ซึ่งถือเป็นข่าวดีของภาคธุรกิจ ที่จะคลายความกังวล และเพิ่มความแน่นอนในการทำการค้าระหว่างยูเคและอียู

หลังจากยูเคออกจากอียูโดยสมบูรณ์ ยูเคจะสามารถกำหนดนโยบายการค้าของตัวเองได้ และได้ตั้งเป้าจะเป็นประเทศการค้า (trading nation) โดยมุ่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศต่าง ๆ เป็นสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างยูเคกับโลก ซึ่งปัจจุบันยูเคสามารถสรุปผลการจัดทำเอฟทีเอกับหลายประเทศแล้ว

อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น สำหรับนโยบายการค้ากับประเทศที่ยูเคยังไม่มีเอฟทีเอด้วย ได้กำหนดอัตราภาษีศุลกากรใหม่เริ่มใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้านำเข้ากว่า 48% ของรายการสินค้าทั้งหมดทันที

ซึ่งการเตรียมพร้อมของฝ่ายไทย ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาจัดสรรโควตาในสินค้าเกษตร ที่เคยมีโควตาสมัยยูเคเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เช่น ไก่หมักเกลือ และเนื้อไก่ปรุงสุกและแปรรูป เป็นต้น โดยมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564

พร้อมกันนี้ กรมอยู่ระหว่างหารือกับยูเคเพื่อจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าร่วมกัน รวมทั้งการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้าในระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นเวทีหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้า แก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันและพิจารณาความเป็นไปได้ทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคตด้วย

จับตาข้อตกลง UK-EU

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามยังภาคเอกชน ที่ได้ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับความตกลงระหว่างยูเคและอียูอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดการลดภาษีที่แน่ชัดในความตกลงฉบับดังกล่าว

นางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอยู่ระหว่างการติดตามอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยไปตลาดยูเค ภายหลังจากที่ยูเคสามารถสรุปเงื่อนไขในการออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้

“ภาคเอกชนต้องการเห็นการเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ยูเค เพราะปัจจุบันไทยไม่มีสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) ส่งผลให้อัตราภาษีสูงกว่าประเทศที่มีเอฟทีเอ โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ผลไม้ ผัก มีอัตราภาษีที่สูงถึง 20% มีผลต่อศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งยังมีข้าวโพดหวานกระป๋องที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มจากอียู หากมีเอฟทีเอคาดหวังว่าภาษีนำเข้าจะลดลงแม้ว่าสัดส่วนตลาดนี้มีเพียง 1% แต่ก็เป็นการเพิ่มโอกาสการส่งออก”

เปิดลิสต์สินค้าไทยที่ได้ลดภาษี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อัตราภาษีนำเข้ายูเคจะปรับเปลี่ยนใหม่ต่างจากเดิมที่เคยใช้เมื่อตอนเป็นสมาชิกอียู ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าอาหารได้เพิ่มขึ้น ผู้ส่งออกต้องติดตามภาษีนำเข้าของยูเคอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในกลุ่มอียู

ทั้งนี้ ได้ประเมินการอัตราภาษีนำเข้าใหม่ของ UK Post Brexit ในระยะสั้น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม (ตามตาราง) คือ

1.กลุ่มที่ยูเคยกเลิ

ปิดโผสินค้าไทยได้-เสีย หลังจบ Brexit

กภาษีนำเข้าทันทีในสินค้า 48% ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยประเทศที่ยังไม่มีความตกลงเอฟทีเอกับ UK อย่างไทยจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวด้วย

2.กลุ่มที่ยูเคลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าเหลือ 2-10% คิดเป็นสัดส่วน 30% ของรายการสินค้าทั้งหมด

3. ยูเคยังคงเก็บภาษี 12-70% ในสินค้าประมาณ 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด

4.กลุ่มที่ยูเคใช้มาตรการโควตาหรือกำหนดอัตราภาษีเฉพาะ ซึ่งมีสินค้า 10% ของรายการสินค้าทั้งหมด

คู่ค้าที่ไม่มีเอฟทีเอใช้ภาษีเดิม

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ทำ FTA กับ EU (ที่รวม UK) ก่อนหน้านี้มีความเป็นไปได้ว่า Post Brexit ต้องกลับไปใช้อัตราภาษีอัตราอากรทั่วไป (MFN) ของยูเค เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยเฉลี่ย 3.07% (สินค้าเกษตร MFN เฉลี่ย 4.17%/ สินค้าอุตสาหกรรม MFN เฉลี่ย 2.95%) และอัตราภาษี MFN ของอียูเฉลี่ย 4.21% (สินค้าเกษตร MFN เฉลี่ย 4.87%/สินค้าอุตสาหกรรม MFN เฉลี่ย 4.15%)

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องติดตามการเก็บอัตราภาษีใหม่ระหว่างอียูกับยูเค ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าที่ไทยผลิตแข่งกับผู้ผลิตในอียู เช่น สินค้าไก่ แข่งกับเนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ เยอรมนี ไอซ์แลนด์, รถจักรยานยนต์แข่งกับอิตาลี เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส ผลิตภัณฑ์ยางแข่งกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รถยนต์และส่วนประกอบแข่งกับเยอรมนี เบลเยียม สเปน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

“ระยะแรกเชื่อว่าอัตราภาษีจะไม่สูง โอกาสในการส่งออกสินค้าไทยยังมีมาก แต่ในระยะยาวเมื่อยูเคสามารถปรับตัวได้รับรู้ถึงความต้องการสินค้าในประเทศ และการปรับเปลี่ยนอัตราภาษีใหม่เกิดขึ้นก็อาจส่งผลต่อการส่งออก ดังนั้น ไทยต้องเร่งเจรจาเอฟทีเอกับยูเค”