กกร. ชงรัฐต่อมาตรการ “คนละครึ่ง” อีก 3 เดือน

มาตรการคนละครึ่ง

3 เอกชนเสียงเดียวกัน เสนอรัฐ 4 ข้อสำคัญ ต้องคุมแรงงานจับที่ผิดกฎหมาย ดึงงบ 200,000 ล้านบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจพร้อมต่อมาตรการ “คนละครึ่ง” ช่วยประชาชน เร่งวัคซีน และให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP ให้จบ เพื่อทันใช้กลางปี ติงรัฐอย่างออกมาตรการหว่านแหขอให้ตรงจุด หวัง GDP ปี 64 โต 1.5-3% แม้ไตรมาส 1/64 ส่งออกยังไม่ดีด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขาด

วันที่ 6 มกราคม 2564 นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เอกชนประเมินว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบ 2 ครั้งนี้หากรัฐสามารถควบคุมได้ภายใน 3 เดือน และมีมาตรการออกมาช่วยเหลือจากวงเงิน 200,000 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวเอกชนต้องการให้ภาครัฐนำมาใช้เพื่อต่อมาตรการ “คนละครึ่ง” ไปอีก 3 เดือน

เนื่องจากสามารถช่วยลดภาระ ช่วยการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้เป็นอย่างดี หากเป็นเป็นตามนี้ คาดว่า GDP ปี 2564 จะเติบโตได้ในกรอบ 1.5-3.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดไว้เมื่อ (ธ.ค.2563) ที่ว่าขยายตัวได้ 2.0% ถึง 4.0% ขณะที่การส่งออกปี 2564 คาดว่าจะโต 3-5% ส่วนเงินเฟ้อจะอยู่ในกรอบ 0.8-1%

นอกจากนี้ สิ่งที่เอกชนต้องการขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินกา แก้ไข รับมือทันที ทั้งหมด 4 เรื่อง คือ 1.ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อให้ได้ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายกับทุกส่วนเพื่อหาต้นตอของสาเหตุการเกิด เช่น แรงงานผิดกฎหมาย โดยขอให้ควบคุมดูแลที่อยู่ของคนงานต่างด้าวให้เหมาะสม ไม่แออัดเพื่อระงับการแพร่ระบาด ตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่ใช้เวลาจัดการเรื่องนี้ 6-8 เดือน และเร่งจับผู้กระทำผิดทั้งบ่อนการพนัน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าของประเทศว่าปัญหาการแพร่ระบาดส่วนใหญ่มาจากคนสู่คน ไม่ใช่จากอาหารหรือสินค้าสู่คน

2.รัฐต้องเร่งดำเนินการเรื่องงบประมาณช่วยเหลือ 200,000 ล้านบาท โดยให้กำหนดวิธีการให้ชัดเจนปฏิบัติได้เร็วและให้ส่งผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีความเห็นว่าจะสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ ซึ่งอาจเป็นการต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายต่อบุคคลเป็น 5,000 บาท มาตรลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ลดค่าไฟ 5% รวมถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่าง Asset Warehousing และ บสย. อย่างมีประสิทธิภาพ

3.เร่งเรื่องวัคซีนให้สามารถได้มาตามกำหนดเวลาและมีปริมาณที่เพียงพอ รวมถึงกำหนดวิธีการและหลักเกณฑ์ในการกระจาย การขนส่ง และฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดลำดับผู้ที่ได้รับวัคซีนก่อนหลังอย่างเหมาะสม

4.เร่งการใช้และการเจรจาการค้าทวิภาคี รวมถึงการให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP ในการประชุมรัฐสภา เพื่อให้ข้อตกลงที่ลงนามไปเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีผลบังคับใช้กลางปี 2564 เพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งเพิ่มในช่วงครึ่งปีหลัง

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบรอบนี้กระทบภาคอุตสาหกรรม และก็ยังมีความกังวลว่าจำนวนแรงงานอาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ด้วยรัฐมีมาตรการช่วยเหลือจำกัดเป็นแค่บางพื้นที่ แม้จะยังประเมินตัวเลขไม่ชัดแต่ก็เป็นที่น่ากังวล และแน่นอนว่าในไตรมาส 1/2564 การส่งออกจะยังไม่ดีขึ้นแน่นอน ด้วยทั้งปัญหาการขาดตู้คอนเทนเนอร์ และคู่ค้าอย่างจีนที่จะมีวันหยุดตรุษจีนด้วย

นายผยง ศรีวณิช ประธาน สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือจากทางแบงค์ ได้มีการผ่อนคลายมาตรการอย่างการปรับโครงสร้างหนี้ ให้กับลูกค้า SMEs ไปจนถึงสิ้นปี 2564 ส่วนมาตรการอื่นๆ รัฐต้องดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหน “ออกมาตรการอย่างหว่าน” ต้องช่วยให้ตรงจุด มันถึงจะทำให้เศรษฐกิจไปต่อได้