ม.หอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่น ธ.ค.วูบ หากล็อกดาวน์ทั้งประเทศหนี้ครัวเรือนพุ่ง

หนี้

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยหอการค้า เผยดัชนีเชื่อมั่น ธ.ค.วูบ 50.1 กังวลหากล็อกดาวน์ทั้งประเทศหนี้ครัวเรือนพุ่ง 90%

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีเชื่อมั่น ธ.ค. วูบเหลือ 50.1 ครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ หวั่นจีดีพีหลุดเป้า 2.8% เหลือโต 2.2% ชี้หากแย่สุดกรณีล็อกดาวน์ทั้งประเทศ คาดเศรษฐกิจติดลบดิ่ง 0.3% หวังรัฐบาลขยายผล-เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ครอบคลุม พยุงเศรษฐกิจ เผยกังวลหนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% อาจสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ชี้รัฐบาลยังไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนธันวาคม 2563 ว่า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 50.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยเป็นการปรับตัวลดลงทุกรายการและทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจัยลบมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่

โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าจะเริ่มคลี่คลายในไตรมาส 2 จากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ของ กนง. อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมคาดไว้ที่ร้อยละ 3.6 และเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ประกอบกับปัจจัยบวกมาจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งช่วยประคองเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ

สำหรับ ผลกระทบจากมาตรการยกระดับ 28 จังหวัด ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ทั้ง 28 จังหวัด เป็นพื้นที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 85.2 การเกษตรร้อยละ 34.1 และการบริการร้อยละ 75 ซึ่งถือเป็น 3 ใน 4 ของโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศ แต่ครั้งนี้ระดับความเสียหายต่ำกว่ามาตรการ Hard Lockdown ในช่วงเดือนเม.ย. – พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า สถานการณ์โควิดระลอกใหม่ดังกล่าวไม่ควรยืดเยื้อเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาจจะส่งผลให้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้คาดจะอยู่ในช่วง 0.9-2.8% และในกรณีแย่ที่สุด คาดว่าจะติดลบ 0.3% ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดเงินเยียวยาเพิ่มเติม โดยเฉพาะจากมาตรการคนละครึ่ง ประกอบกับหากภาครัฐจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายใน 3 เดือน และจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2

โดยขณะนี้ ยังไม่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจจากเดิมที่ 2.8% แต่เป็นการประเมินเศรษฐกิจตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อ และมาตรการล็อกดาวน์ จึงมีความเป็นไปได้ที่ 2.2% และโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 2.8% ตามประมาณการเดิม แต่หากมีการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ กรณีเลวร้ายจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยหนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มสูง 90% นับเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากประชาชนไม่มีรายได้ ต้องกู้หนี้สินเพื่อใช้จ่าย ขาดการจ้างงาน คนตกงาน

” เงินกู้รัฐบาลที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท และงบประมาณขาดดุลอีก 600,000 ล้านบาท ที่เป็นงบที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนน่าจะเพียงพอ และยังไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่มเติม แต่หากสถานการณ์บานปลายถึงไตรมาส 2 รัฐบาลจะมีศักยภาพในการกู้อย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท เพราะหนี้สาธารณะในปัจจุบันอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ตรงนี้น่าห่วง และมีพื้นที่อีก 10% ต่อจีดีพีที่จะกู้เพิ่มเติมได้ ซึ่งจีดีพีไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ดังนั้น คาดว่าจะสามารถกู้ได้อีก 1.6 ล้านล้านบาท เท่านั้น ทั้งนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินไปถึงจุดนั้นเป็นเพียงการคาดการณ์”