แบน “พาราควอต” มุดใต้ดิน ของเถื่อนเกลื่อน-ไร้สารทดแทน

ผ่านไป 2 เดือน นับจากรัฐมีนโยบายชัดเจนให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมห้ามไม่ให้มีการผลิตนำเข้า ส่งออก และครอบครองสารเคมีพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ส่งผลให้เกษตรกรต้องหันไปใช้สารเคมีทดแทนชนิดอื่น โดยเฉพาะสาร “กลูโฟซิเนต” แทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช

เกษตรกรซื้อของเถื่อน

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่มีมติแบนสารพาราควอต ยังไม่ได้รับแนวทางการจัดการปัญหาที่ชัดเจน เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดหวานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และผลไม้ ประสบปัญหาและเสียหายอย่างหนัก

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย

แม้ว่าทางกรมวิชาการเกษตรจะมีการนำเสนอสารเคมีเกษตรชนิดอื่น ๆ มาให้เป็นทางเลือก แต่ไม่สามารถใช้แทนพาราควอตได้ โดยเฉพาะกลูโฟซิเนต ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำ แต่เมื่อนำไปใช้พบว่ามีคุณสมบัติ ราคา และประสิทธิภาพแตกต่างกับพาราควอตอย่างสิ้นเชิง หรือแม้ว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะพยายามนำไกลโฟเสตมาสลับใช้ได้บ้างก็ไม่สามารถทดแทนได้ 100%

“ผลที่ตามมาขณะนี้พบว่าเกษตรกรใช้ของเถื่อน โดยหากนับตั้งแต่ปี 2560 ที่นำเข้ามากว่า 30,000 ตัน กระทั่งปีที่ผ่านมา 2563 มีมติแบนโดยรัฐให้นโยบายว่าให้บริษัทส่งคืนและมีงบประมาณตั้งไว้เพื่อรองรับผลกระทบต่าง ๆ นั้น กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นจริงทำให้ตอนนี้เกษตรกรซื้อพาราควอตที่ปัจจุบันเป็นสินค้าเถื่อนกันเยอะมาก และราคาสูง 2 เท่า จากราคา 370 บาท ขายในราคา 700 บาทต่อแกลลอน ทำไมออกนโยบาย ยิ่งแบนยิ่งขายดี”

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองพิจารณาคัดค้านมติแบน ซึ่งต้องขอเลื่อนออกไปเนื่องจากเกิดการระบาดโควิดระลอกใหม่ คงต้องรอต่อไป แต่ห่วงว่าระหว่างนี้จะมีการซื้อขายของเถื่อนกันมากขึ้น และเกษตรกรยอมจ่ายราคาที่สูงมาก หน่วยงานควรเข้ามากำกับดูแล

ต้นทุนชาวไร่มันพุ่งขายได้เท่าเดิม

ขณะที่ นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า หลังจากที่มีการยกเลิกการค้าพาราควอตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจำเป็นต้องหันมาใช้กลูโฟซิเนต แทนพาราควอตในการฉีดพ่นหญ้า วัชพืช

แต่ทั้งนี้พบว่าสารดังกล่าวนอกจากเป็นสารที่ดูดซึมเข้าสู่ราก ผลผลิตอย่างมันสำปะหลังซึ่งมีผลต่อการเติบโตมันสำปะหลังแล้ว สารดังกล่าวเวลาใช้ต้องใช้ปริมาณมากพอสมควรถึงจะกำจัดหญ้า วัชพืชได้ และยังเป็นสารที่ตกค้างในดินอีกด้วย

“สารกลูโฟซิเนตนี้จะกระทบต่อผลผลิตมากน้อยเพียงใด หรือมีการตกค้างในมันสำปะหลังหรือในดินหรือไม่เกษตรกรยังไม่สามารถบอกได้ เนื่องจากเป็นสารใหม่ที่ใช้กัน อย่างไรก็ดีสารดังกล่าวมีราคาสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับสารเดิม เช่น ซื้อพาราควอต 1 ลิตร ใช้เงินเพียง 75-100 บาท แต่ใช้กลูโฟซิเนต 1 ลิตร ใช้เงินกว่า 200 บาท เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรอย่างมาก แต่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังยังจำหน่ายมันสำปะหลังได้กิโลกรัมละ 2.10 บาท ต่ำกว่าราคาประกันที่ 2.50 บาท ส่วนราคามันเส้นยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาท”

สวนปาล์มโอดต้องซื้อปุ๋ยเพิ่ม

ด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากแบนพาราควอตไม่ให้ใช้กับพืชทุกชนิด แม้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะใช้สารดังกล่าวน้อย เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้น แต่ก็ใช้บ้างเพื่อกำจัดหญ้า

มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย
มนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย

แต่เมื่อยกเลิกและให้ใช้ไกลโฟเซตแบบจำกัด ทำให้เกษตรกรต้องหาวิธีอื่น เนื่องจากสารนี้มีผลต่อปาล์มน้ำมัน การใช้ก็น้อยลง ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเพื่อบำรุงต้นและผลปาล์ม เพราะไม่สามารถกำจัดหญ้าได้หมด ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น หญ้าจะดูดซึมปุ๋ยไปจากต้นปาล์ม

“ปัจจุบันต้นทุนการซื้อปุ๋ยเฉลี่ยตันละ 14,000 บาท แต่เมื่อไม่สามารถกำจัดหญ้าได้ เกษตรกรก็ต้องซื้อปุ๋ยเพิ่มขึ้นเพื่อบำรุงผลผลิตให้ได้ผลและต้นโต ทั้งนี้ ผลผลิตปาล์มคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากสุดได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 เป็นต้นไป”


ส่วนในช่วงนี้ ผลผลิตจะออกน้อย ประมาณ 30-40% เนื่องจากผลผลิตออกไปมากแล้วในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ส่วนราคาปาล์มในตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 6-7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่