“ไบโอไทย” ชี้ บราซิลยังแบนพาราควอต

อีกด้าน “นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐมีนโยบายรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ห้ามไม่ให้มีการผลิตนำเข้า ส่งออก และครอบครองสารเคมีพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้

ส่วนในประเด็นของสารทดแทนนั้น ทางไบโอไทยเห็นว่าเมื่อยกเลิกสารเคมีที่มีพิษร้ายแรงดังกล่าวแล้ว ทางเลือกแรก คือ ไม่ควรใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชอีก ขอให้รัฐบาลส่งเสริมเทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตรจะดีกว่า

เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่เพียงแต่ไทยเท่านั้นที่แบน แต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมารัฐบาลบราซิลก็ลงมติยืนยันให้มีการแบนพาราควอตตามกำหนดการเดิม มีผลในเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา และจะใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนการผลิต ผลกระทบต่าง ๆ ระยะเวลา 2 ปี

ซึ่งหลังจากได้ประกาศเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2560 นับว่าเป็นชัยชนะสำคัญขององค์กรด้านสุขภาพของบราซิล ซึ่งบราซิลเป็นทั้งผู้ผลิตถั่วเหลือง ข้าวสาลี อ้อย-น้ำตาล เช่นเดียวกับไนจีเรีย ที่มีนโยบายแบนสารเคมี ซึ่งไนจีเรียเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังและข้าวโพดของโลก ดังนั้น 2 ประเทศผู้ผลิตพืชรายใหญ่ได้เริ่มมีนโยบายแบนสารเคมีเหล่านี้ จะไม่เป็นข้อต่อรองการค้าของไทยได้อีกต่อไป

โดยเฉพาะยิ่งเกิดการระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้แรงงานภาคเกษตรลดลง กลับภูมิลำเนา และคนหันมาใส่ใจการบริโภคที่ปลอดภัยมากขึ้น รัฐบาลควรส่งเสริมการปลูกเกษตรไร้สารเคมี โดยนำงบประมาณงบฯฟื้นฟูที่ยังคั่งค้าง สามารถนำมาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯเคยเสนอไว้นั้นสูงเกินไป อยากขอให้นำมาปรับใช้ในภาคเกษตรมูลค่า 3,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอในการริเริ่มและตรงจุด

โดยยังคงยืนยันว่า สารทดแทนที่ดีที่สุดคือเทคโนโลยี ใช้เครื่องจักรกลทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืช เช่น เครื่องตัดหญ้า หรือปลูกพืชคลุมดินเพื่อชิงที่อยู่ของวัชพืช


ส่วนสถานการณ์จากการสำรวจภาพรวมหลังจากแบนสารพบว่าเกษตรกรใช้สารเคมีลดลงจริง โดยเฉพาะพาราควอต