ล้วงลึกขายหุ้น GPSC “ไทยออยล์” เขย่าโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า

แฟ้มภาพ:ไทยออยล์

ในปี 2564 จะเป็น chapter ใหม่ของ “ไทยออยล์” หรือ TOP ก้าวสู่ปีที่ 60 ที่จะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ธุรกิจ “ออยล์” หรือน้ำมันอีกต่อไป แต่จะเป็นบริษัทด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีสายการผลิตที่ยาวที่สุด ตั้งแต่โรงกลั่นน้ำมัน ไปสู่ปิโตรเคมีในสายอะโรเมติกส์ และสายโอเลฟินส์ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูงจากที่ได้ขยายการลงทุน Clean Fuel Project (CFP) ไปก่อนหน้านี้ ก่อสร้างไปกว่าครึ่งทางแล้ว คาดว่าจะสำเร็จในปี 2566 และรุกธุรกิจดาวน์สตรีมเพื่อเชื่อมกับ CFP ต่อไป

ในอีกมุมหนึ่งไทยออยล์ยังมีธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจเรือขนส่งด้วย ซึ่ง “นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2564 จะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

ขายหุ้น GPSC สู่มือ ปตท.

เขาฉายภาพธุรกิจไฟฟ้าว่า ปัจจุบันไทยออยล์ถือหุ้นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC อยู่จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 ถืออยู่ 24.5% ขายหุ้น 3.5% ให้ ปตท. มูลค่า 17,000 ล้าน เพราะเราถือเยอะเกิน

ย้อนไปก่อนหน้านี้ บริษัทเป็นผู้ก่อตั้ง GPSC เอาโรงไฟฟ้าหลาย ๆ โรงมารวมกัน ซึ่งโรงใหญ่โรงหนึ่งของ GPSC คือ IPT ของไทยออยล์ ย่อมาจาก Independence Power Thailand ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็น IPP บริษัทแรกในไทย เราเลยมีหุ้นใน GPSC ค่อนข้างเยอะ

“ตอนที่ขายหุ้นให้ ปตท.ก็มีคำถามจากพวกผู้ถือหุ้นว่าขายไปทำไม แต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นประมาณ 99.97% อนุมัติว่าเราจะลดสัดส่วนนิดหนึ่งใน GPSC แต่เราไม่ได้บอกว่าเราไม่โต แต่เราจะไดเร็กต์โฟกัสเรื่อง renewable พวกโซลาร์วินด์พวกนี้ เพราะหนึ่งเรามีความต้องการที่จะใช้พลังงานของเราเองส่วนหนึ่ง ฉะนั้น เราก็จะ serve ส่วนนี้”

“แต่ขณะเดียวกัน ผมมองเรื่อง supply chain ว่าเราจะไปลงทุนประเทศต่าง ๆ 4-5 ประเทศที่เป็นโฟกัสแอเรียพวกนี้มีความต้องการไฟฟ้าเยอะมากเราก็ดูตามโปรเจ็กต์ในเวียดนาม เมียนมา หลาย ๆ ประเทศ ซึ่งหลายโปรเจ็กต์ตอบโจทย์เราเรื่อง renewable เราจะไปลงทุน โดยจะร่วมกับกลุ่ม ปตท.ด้วย เพราะเขาก็เซตทาร์เก็ตว่าภายใน 5 ปี ได้ 8,000 เมกะวัตต์ ในกลุ่มไฟฟ้าทั้งกลุ่มต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด ฉะนั้น เราไม่ห่วงว่าจะไปแข่งกันเอง”

โอกาสขยายลงทุนในไทย

ส่วนแผนการขยายการลงทุนไฟฟ้าในไทยนั้น เขายอมรับว่ายังมีแผนบ้าง แต่ด้วยเหตุที่อัตราเติบโต (growth) ในไทยมีปริมาณน้อย และปริมาณสำรอง (รีเซิร์ฟ) ไฟฟ้าในไทยล้น เทียบกับต่างประเทศที่มีปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก โดยเฉพาะในเวียดนาม หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติขยายการลงทุนเข้าไป และยังมีเมียนมา อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเช่นกัน

ปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า

นายวิรัตน์กล่าวถึงธุรกิจไฟฟ้าในไทยว่า ถ้าพูดถึงในไทยเรากำลังทำ คือ เรามีโรงไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ ของไทยออยล์ เพาเวอร์ อายุ 27 ปี ที่สัญญาจะหมดอายุอีก 3 ปีข้างหน้า เราจะลงทุนสร้าง SPP โรงใหม่ขึ้นมา แต่ไม่ได้เพิ่มคาพาซิตี้แต่จะเป็นการ replace ของเก่าซึ่งเช่าพื้นที่ราชพัสดุ โรงไฟฟ้านี้บริษัทใช้รองรับการใช้ภายใน

“เหตุที่สร้างใหม่ทับเพราะได้พิสูจน์แล้วว่าการยืดอายุต่อไม่มีประโยชน์ เพราะมันได้ไม่ยาว และไม่เอฟฟิเชียนต์ ฉะนั้น ทุบทิ้งไปซะ นี่เป็นสัญญาของ EGAT เดิมเคยมีไอเดียว่าจะ repowering คือ ไปปรับปรุง เสร็จแล้วใช้ได้ 5 ปี และ efficiency สู้ของใหม่ไม่ได้”

จ่อเลิกสถานะ-ประหยัดภาษี

“ปีหน้าประมาณไตรมาส 2 จะยกเลิกสถานะบริษัท โดยอาจจะเปลี่ยนชื่อบริษัทเพราะเราอาจจะยุบบริษัทนั้น ไม่ใช้ไทยออยล์ เพาเวอร์ เราจะ EBT คือ entry business transfer ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของเรา เราจะเลิกบริษัทนี้และเราจะถือตรง เช่น GPSC ที่ถือโดยไทยออยล์ เพาเวอร์”

“พอมันถือขาดทำให้การที่เรารับดิวิเดนด์กลับมา เราต้องเสียภาษี ซึ่งเฉพาะภาษี 10% พอปรับโครงสร้างก็ช่วยเซฟภาษีไปหลายร้อยล้านบาท อีกหน่อย GPSC ยิ่งโตเท่าไร ดิวิเดนด์เพิ่มขึ้น ภาษีเพิ่มขึ้น เราจึงถือโอกาสขายหุ้นไปแล้วก็ปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการยุบบริษัทไม่ได้มีผลต่อพนักงาน เพราะเป็นบริษัทโฮลดิ้งไม่ได้มีพนักงาน”

สัดส่วนรายได้อนาคต

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้บริษัท 80% มาจากธุรกิจปิโตรเลียม อีก 15-20% มาจากธุรกิจไฟฟ้า หลัก ๆ ก็คือการลงทุนใน GPSC ที่ได้ผลตอบแทนกลับมา รวมถึงไทยออยล์ เพาเวอร์คือมีทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อม

แต่ต่อไปไทยออยล์จะลงทุนโดยตรงในธุรกิจโรงไฟฟ้า มองไปข้างหน้า 10 ปี หรือในปี 2030 หรือเร็วกว่านั้นสัดส่วนรายได้ของปิโตรเลียมเหลือแค่ 40-50% ไปเพิ่มปลายน้ำ ซึ่งอีก 40% จะมาจากปิโตรเคมีโดยเฉพาะโอเลฟินส์ ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าจะยังคงอยู่ที่ 15% และอีก 5% เป็นผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ กลุ่มสตาร์ตอัพ โดยเวนเจอร์แคปิตอลต่าง ๆ