ส่งออก ‘โฟรเซ่น-ซีฟู้ด’ รอด ขอชดเชยภาษีตรวจโควิด

โรงงานอาหารทะเล
ภาพประกอบข่าว : Photo by STR / AFP

3 สมาคม “ทูน่า-อาหารสำเร็จรูป-แช่เยือกแข็ง” ประสานเสียง รับมือวิกฤตซัพพลายเชน ยัน “โควิดสมุทรสาคร” ยังไม่กระทบส่งออกไตรมาสแรก ออร์เดอร์นอกยังปกติ โรงงานจี้ตรวจแรงงานเข้มข้น-ฉีดวัคซีน รัฐจ่ายก่อน พร้อมขอลดหย่อนภาษีภายหลัง เรือประมงร้องราคาสัตว์น้ำทะเลตกต่ำ ขอวันจับปลาเพิ่มขึ้น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอาหารสัตว์น้ำและแช่เยือกแข็ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกในปีที่ผ่านมาสูงถึง 300,000 ล้านบาท โดยมีวงจรการผลิตกับโรงงานในประเทศถึง 457 โรงงาน ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการทั้งในแง่ขอสุขอนามัยสินค้าอาหาร-คนงาน และการส่งออก ที่อาจจะหยุดชะงักลงจากการระบาดในแหล่งผลิตครั้งใหญ่

สัตว์น้ำทะเลออร์เดอร์ปกติ

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และประธานสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวตอนนี้ “ถือว่าหนักที่สุด” ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง แต่ยืนยันได้ว่า ยังไม่กระทบต่อปริมาณวัตถุดิบ การผลิต รวมถึงการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำและอาหารทะเลของประเทศไทย “ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงออร์เดอร์ที่รับไว้ล่วงหน้าในไตรมาสหนึ่ง

แต่ปัญหาที่สำคัญตอนนี้คือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อย่างหนักกับเงินบาทแข็งค่าที่โดนเต็ม ๆ เราจึงไม่มีตัวเลขใหม่ ต้องรอประเมินอีกครั้ง การระบาดครั้งนี้ไม่ใช่เกิดจากการแพร่ระบาดสัตว์น้ำสู่คน แต่เป็นการแพร่ระบาดจากคนสู่คนดังนั้น ผู้บริโภคสัตว์น้ำจึงไม่ต้องกังวลว่าจะติดโควิด-19 ในส่วนของแพ็กเกจจิ้งได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมามีกรณีที่จีนตรวจพบสินค้าจากเอกวาดอร์ จึงมีการประกาศห้าม แต่ในส่วนของสินค้ายังไม่มีปัญหา รัฐบาลจีนยอมรับ ฉะนั้นยังไม่มีอิมแพ็กต์ที่เป็นทางการออกมาเลยว่า ลดออร์เดอร์หรือไม่ซื้อสินค้า” นายพจน์กล่าว

ด้าน นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกกิตติคุณสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าประมงแช่เยือกแข็งตลอดจน supply chain ของห้องเย็นทุกโรงงานต่างตระหนักให้ความสาคัญในการป้องกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อไวรัส รวมถึงสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ เข้าสู่กระบวนการผลิตอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าอาหารที่ผลิตออกจากโรงงานถึงมือผู้บริโภค มีความสะอาดและปลอดภัย (food safety-food security)

“ที่ผ่านมาสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งฯใช้วิธีตรวจคัดกรองแรงงาน โดยส่วนใหญ่ตรวจจากเลือดแล้วพบว่า บางคนยังมีภูมิต้านทานหรือรับเชื้อเข้าไปแล้วยังมีภูมิต้านทานอยู่ ก็ถือว่าผ่านเเละไม่มีอาการ สามารถออกไปใช้ชีวิตปกติ ดังนั้น เราจึงเสนอว่าจะต้องใช้วิธีนำเอาน้ำลายที่ลึกที่สุดมาตรวจและให้มีการตรวจซ้ำประมาณ 1,000 คน/วัน โดยเอกชนจะเอื้อเฟื้อสถานที่เอง อาทิ ลานกีฬา ให้พักรอดูอาการ ซึ่งเราจะจ่ายค่าแรงเต็ม พร้อมอำนวยความสะดวกอาหารฟรี ส่วนจุดพักอาการ ล่าม ต้องพึ่งพาและขอการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ”

อย่างไรก็ตาม นายพจน์เสนอว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการเชิงรุกในการเข้าไปตรวจเพิ่มเติม โดยสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 400,000 คน ซึ่งการจะให้ภาครัฐไปตรวจจนครบจะใช้เวลานานและงบประมาณสูง หากแต่ละบางธุรกิจเราเห็นว่า ควรให้สาธารณสุขช่วยปลดล็อกให้มีการตรวจตามหลักการ “เป็นไปได้ไหม หากจะรอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นให้สามารถลดหย่อนได้ แต่ปัญหาก็คือ ถ้ารายใหญ่มีเงินหมุนเวียนพอสามารถจัดการค่าใช้จ่ายเองได้ แต่รายเล็ก-SMEs จะไปจัดที่ไหนใช้เงินจากส่วนไหน ดังนั้นต้องร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน ขอให้รัฐช่วย เอกชนพร้อมเอื้อเฟื้อสถานที่ ส่วนค่าบริหารจัดการเอกชนยอมช่วย แล้วให้รัฐมาชดเชยช่วยลดหย่อนภาษี” นายพจน์กล่าว

หอหนุนมาตรการภาษีช่วย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ประชุมร่วมกับ ศบค. และเสนอมาตรการ 3-4 ข้อ โดยเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วยการ 1) ควรตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ

2) ผู้ประกอบการหลายรายในจังหวัดสมุทรสาครมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวด้วยตนเอง ตั้งแต่การตรวจผู้มีเชื้อ ทั้งการตรวจแบบ rapid test และ PCR โดยตรวจแบบแรกจะช่วยได้มาก เพราะตรวจแบบ PCR จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2,000-3,000 บาท/ราย ภาครัฐควรเร่งอนุมัติการตรวจ rapid test ว่าแบบใด สามารถรับรองผลตรวจได้ พร้อมทั้งการกักพื้นที่ในเขตควบคุม local quarantine เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องหาสถานที่ในการแยกกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อลดการแพร่เชื้อและการติดเชื้อซ้ำ โดยให้ภาครัฐควรช่วยสนับสนุนค่าตรวจ หรือใช้มาตรการลดหย่อนทางภาษีให้ผู้ประกอบการ

3) มาตรการป้องกันควบคุมการแพร่เชื้อของแรงงานต่างด้าว ควรต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออย่างถาวร ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนสำหรับแรงงานต่างด้าว

อาหารสำเร็จรูปส่งออกปกติ

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และในฐานะรองประธาน บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตอาหาร-ผักแปรรูป กล่าวว่า สมาชิกสมาคมส่วนใหญ่ยังไม่ได้ดำเนินการตรวจคัดกรองพนักงาน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องของสถานที่พัก ค่าใช้จ่าย บุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้ามาดู ต้องประสานกับหน่วยงานรัฐ แต่บริษัทเองรวมไปถึงสมาชิกทุกรายของสมาคมได้มีคำแนะนำเบื้องต้น หากกรณีพบผู้ติดเชื้อ-ผู้ที่สงสัยติดเชื้อและต้องเฝ้าระวังจะต้องดำเนินการอย่างไร

“การส่งออกอาหารแปรรูปตอนนี้ยังเป็นปกติไม่มีปัญหา สมาคมมองว่า สินค้าสำเร็จรูปมีกระบวนการผลิตผ่านความร้อนที่ฆ่าเชื้อโรคและมาตรฐานเข้มข้น”
นายวิศิษฐ์กล่าว

ทูน่าฆ่าเชื้อโควิดตายหมด

เช่นเดียวกับ นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย กล่าวว่า สมาคมได้ให้ความมั่นใจสินค้ากลุ่มทูน่ากับผู้บริโภคและลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมั่นว่าสินค้าไม่มีเชื้อโควิด-19 อย่างแน่นอน เนื่องจากขั้นตอนการผลิตสินค้าและกระบวนการผลิตมีการป้องกันเชื้ออย่างมีมาตรฐานและตลอดการขนส่ง และพนักงานทุกขั้นก็ต้องผ่านการคัดกรองก่อนเข้าโรงงาน รวมถึงมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่ โดยกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานทูน่าที่มีศักยภาพได้ตรวจคัดกรองแรงงานเพื่อสร้างความมั่นใจและหยุดการแพร่ระบาดจากกลุ่มผู้ติดเชื้อซึ่งไม่มีอาการ ได้จัดคัดแยกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้อและจากการประสานหน่วยงานสาธารณสุข แรงงานกลุ่มนี้สามารถหายจากอาการได้ โดยเฝ้าดูอาการ 10-14 วัน หากพบผู้ป่วยก็จะเข้าสู่การรักษาทันที

โดยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก มีมูลค่ากว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี การผลิตอยู่ภายใต้ระบบ HACCP สินค้าผ่านการฆ่าเชื้อในหม้อนึ่งความดัน (RETORT) ที่อุณหภูมิสูงกว่า 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานจนค่าความร้อนมากพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งหมด รวมถึงไวรัส COVID-19 ด้วย

เรือประมงขอเพิ่มวันทำประมง

ขณะที่ฝั่งต้นน้ำ นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้กำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบชาวประมงจากการระบาดโควิดระลอกใหม่ โดยขอให้เพิ่มวันทำการประมงจากเดิมที่จะหมดรอบให้วันที่ 31 มีนาคม 2564 กับขอยืดการชำระภาษีออกไปอย่างน้อย 1 ปี “หากวันทำการประมงหมดลง เรือประมงก็ต้องจอด ส่งผลให้แรงงานต้องกลับขึ้นฝั่ง จะเป็นการยกต่อการควบคุมการระบาดได้”


ส่วนความเสียหายของชาวประมงเฉพาะจังหวัดสมุทรสาคร เสียหายประมาณ 200 ล้านบาท/วัน แต่ถ้ารวมทุกจังหวัดที่ทำการประมงก็จะเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาท/วัน ตอนนี้อาหารทะเลต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำลง แทบทุกสินค้าลดลงมาเหลือ 40% โดยเฉพาะ “กุ้งทะเล” จาก 300 บาท/กก. ลดเหลือ 150 บาท/กก. เนื่องจากจำนวนผู้ค้าที่จะเข้าไปซื้ออาหารทะเลในพื้นที่สมุทรสาครลดลง 30-40% จึงทำให้ราคาตกต่ำลง