‘ฉัตรชัย’ ขันนอตผู้บริหาร มุ่งสร้างเกษตรกรสู่ความยั่งยืน

วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เรียกผู้บริหารในระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไปและทีม Single Command (SC) ทั่วประเทศ ซึ่งเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางและถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อน การเชื่อมโยงการทำงานทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ มาสร้างความเข้าใจ สร้างการรับรู้ในเรื่องของนโยบาย แผนงานโครงการ เพื่อนำไปปฏิบัติให้สู่เป้าหมายร่วมกัน

เนื่องจากในปี 2560-2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนด้วยนโยบายยกกระดาษ A4 แบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ 1.ด้านคุณภาพสินค้า ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตร GAP หรือเกษตรอินทรีย์ 2.ด้านประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ สามารถขยายผลรวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการแปรรูปด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เรียกว่าข้อมูลชุดแผนที่ Agri-map หรือ Zoning by Agri-map 3.การลดรายจ่ายในครัวเรือนเพิ่มรายได้ ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่และ 4.สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร โดยให้องค์ความรู้ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
882 ศูนย์ และขยายเครือข่ายเป็น 8,820 ศูนย์ พร้อมทั้งขับเคลื่อนโครงการ 9101 ให้ชุมชนเข้มแข็ง ตลอดจนกลไกกระบวนการยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็ง

หากพิจารณาดูผลงานของรัฐมนตรีและข้าราชการของกระทรวงเกษตรฯทั้งหมด ต้องยอมรับว่า ในช่วง 2-3 ปีมานี้กระทรวงเกษตรฯมีผลงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้เกษตรกรไทยมีความยั่งยืนมากกว่าทุกยุคที่ผ่านมา แม้ผู้บริหารและข้าราชการในพื้นที่จะเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรแปลงใหญ่ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2,138 แห่ง สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ 4,800 กว่าล้านบาท/ปี การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 1,500 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำเพิ่มอีก 5 ล้านไร่ การดูแลและสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ การเดินหน้าการทำเกษตรอินทรีย์ โครงการโคบูรพา เป็นต้น

“ที่ผมเรียกผู้บริหารระดับกลางหรือโซ่ข้อกลางมาประชุม เพราะผมให้ความสำคัญสูงสุดในการบริหารจัดการในพื้นที่ คือต้องเอานโยบายมาวิเคราะห์ว่าคืออะไร มีภารกิจและงานอะไร วิธีปฏิบัติจะทำด้วยวิธีไหน เมื่อจัดทำแผนงานได้ก็เอางบประมาณมาจับและมีขบวนการติดตามงาน ประเมินผล ซึ่งการทำงานดังกล่าว หลายหน่วยงานต้องร่วมกันบูรณาการกันด้วย” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

เป้าหมายสุดท้ายคือ เกษตรกรต้องมีความยั่งยืน มีความภูมิใจ ต่างชาติเขาเห็นความชัดเจนของภาคเกษตรไทย เวลาไปประชุมต่างประเทศ หลายประเทศเขาชื่นชมและอยากเห็นประเทศของเขาเป็นอย่างนี้บ้าง ดังนั้นตนจึงอยากจะเห็นเกษตรกรไทยทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือเกษตรผสมผสาน โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ต้องใช้ศาสตร์พระราชานำหน้าต่อไป เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้ว

ส่วนโครงการสุดท้ายคือ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ใช้งบกลางมาทำ ผูกพันไปปีหน้าไม่ได้ มีเวลาเหลือเพียง 3 เดือนเท่านั้น โครงการเหล่านี้ต้องทำให้รัดกุมและโปร่งใส พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวในตอนท้าย


ทุกโครงการที่กล่าวมาจึงไม่หนักอกหนักใจผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ยกเว้นอยู่เรื่องเดียวคือ ราคายางพารากลับมาตกต่ำตามราคาน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง นัยว่านอกเหนือจากการยืดมาตรการเก่า 3-4 อย่างแล้ว ยังจะมีการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง แก้อุปสรรคการขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการรับซื้อยางจากเกษตรกร แผนการจับมือกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลดการส่งออกยาง
การตั้งกองทุนกับผู้ส่งออกซื้อขายยางมูลค่า 1,200 ล้านบาท และไม้เด็ดสุดท้ายที่จะชี้ชะตาคือ ปัญหาหน่วยงานราชการยังเปิดประมูลการสร้างถนนลาดยางแอสฟัลต์ผสมยางพาราไม่ได้ เพราะยังไม่มีระเบียบมาตรฐานในการตรวจรับมอบถนนแบบนี้ ซึ่งมีข่าวว่ากระทรวงเกษตรฯได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาร่างระเบียบ คาดว่าจะออกมาเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะดูดซัพพลายยางส่วนเกินได้มากและส่งผลดีต่อราคายางตามมา