“ลดเผาอ้อย” ป่วนโรงงานน้ำตาล “ชาวไร่หัวใส” ตัดต้นปนกาบใบรับส่วนต่าง

เผาอ้อย
(แฟ้มภาพ)

57 โรงงานน้ำตาลป่วน รับมือ “ชาวไร่หัวไส” ตัดอ้อยสดผสมกาบใบส่งขายโรงงาน หวังรับเงินค่าลดเผาอ้อยแก้ฝุ่น PM 2.5 ตันละ 20 บาท ไม่สนคุณภาพน้ำตาลวูบ 9 บาทต่อ กก. แถมซวยซ้ำบาทแข็งทุบตลาดส่งออกไตรมาส 1 ราคาโลกซึมยาว แต่ยังต้องแบ่งชาวไร่ 70 ต่อ 30 เท่าเดิม

แหล่งข่าวจากวงการน้ำตาลทราย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลผลิตอ้อยฤดูกาลผลิต 2563/2564 กำลังทยอยเก็บเกี่ยว โรงงาน 57 แห่ง เริ่มเปิดหีบครบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏว่าเกิดปัญหาอ้อยที่เข้าสู่โรงงานไม่ได้มีคุณภาพตามที่ต้องการ จึงเป็นเหตุให้ทางโรงงานอาจหยุดรับซื้อ ชาวไร่อ้อยก็ต้องขนย้ายจากอีกแห่งไปอีกแห่ง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงาน ได้มีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาคุณภาพอ้อยที่เข้าสู่โรงงาน โดยที่ประชุมขอให้ทุกโรงงานไปรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ภายใน 7-10 วันนับจากนี้ หรือประมาณปลายเดือนมกราคม 2564

สาเหตุของปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดมาตรการลดการเผาอ้อยจาก 100% ให้เหลือ 20% ในปีนี้ เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยชาวไร่ที่เผาอ้อยไปขายให้โรงงานจะถูกหักค่าอ้อย 20 บาทต่อตัน หรือเฉลี่ยต่อ 1 คันรถ ประมาณ 20 ตัน ราว 400 บาทจากราคาอ้อยขั้นต้น 800-900 บาท เพื่อเอาไปเพิ่มให้กับชาวไร่ที่ใช้วิธีตัดอ้อยสดเข้าโรงงาน

ถือเป็นมาตรการจูงใจนี้ทำให้ชาวไร่หันมาตัดอ้อยสดมากขึ้น ลดฝุ่น PM 2.5 เหมือนได้รางวัลจากการทำดี แต่ก็มีชาวไร่บางส่วนในบางพื้นที่ได้ตัดอ้อยสดแต่ผสมเอากาบใบไปส่งให้โรงงาน ทำให้คุณภาพน้ำตาลลดลง แต่กลับพลอยได้รับค่าอ้อยไฟไหม้ไปด้วย

“การตัดอ้อยสดไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะถ้าไม่ใช้เครื่องจักรก็ต้องใช้แรงงานคน สุดท้ายพอตัดอ้อยสดมาแล้วก็ตัดมาทั้งลำต้นมีกาบใบผสมมาด้วย ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ไปลดเปอร์เซ็นต์น้ำตาล หรือยีลด์ ซึ่งตอนนี้โรงงานที่รับซื้อพบว่า ยีลด์หาย กก.ละ 9 บาทแล้ว การจะให้โรงงานไปแยกเองก็ลำบาก พอมีปัญหาคุณภาพนั้นก็กระทบเกิดภาวะหยุดซื้อ ชาวไร่ก็เดือดร้อนอีก”

แหล่งข่าวกล่าวว่า การออกมาตรการเรื่องลดการเผาก็ต้องมีการวางแนวทางรองรับว่าจะทำอย่างไร เมื่อต้องตัดอ้อยสดจะใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักร และจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตหรือไม่ เท่าไร เช่นเดียวกับการที่มีมาตรการให้แบนสารเคมีพาราควอต ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชสูงขึ้น ยังไม่มีสารเคมีอะไรมาทดแทน จะดำเนินการอย่างไร

ต่อประเด็นที่ว่า รัฐบาลควรปรับขึ้นราคารับซื้ออ้อยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือไม่นั้น ต้องพิจารณา 2 มุม การจะปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรด้านเดียวไม่ได้ ต้องพิจารณาราคาขายด้วย

ซึ่งตอนนี้ราคาขายน้ำตาลในตลาดโลกไตรมาส 1 เพิ่มจาก 12 เซนต์ เป็น 13 เซนต์ ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นน้อยมาก หากเพิ่มเป็น 15-16 เซนต์ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะปรับราคาอ้อย

ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าไปมาก ทำให้รายได้จากส่งออกน้ำตาลที่คิดทอนกลับมาเป็นเงินบาทได้ราคาลดลง และเรายังต้องพึ่งพารายได้จากตลาดส่งออก 70% ดังนั้นเมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้น จะปรับราคาขึ้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เสมือนตอนนี้ชิ้นเค้กลดลง แต่ผู้ประกอบการกับชาวไร่ก็ยังต้องแบ่งรายได้ในสัดส่วน 70 ต่อ 30 เท่าเดิม

“ปีนี้โรงงาน 57 โรงงานที่เปิดหีบไปประมาณ 4-5 วัน คาดว่าปีนี้จะหีบหมดภายในกลางเดือนมีนาคม เพราะปริมาณอ้อยปีนี้น่าจะมีเพียงไม่ถึง 70 ล้านตัน จากกำลังการผลิตสูงสุดของโรงงานที่รับอ้อยได้ 1.2 ล้านตันวัน เป็นเวลา 4 เดือน หรือราว 96 ล้านตัน ซึ่งปริมาณอ้อยที่ลดลงมาจากหลายสาเหตุ มีทั้งการหันไปปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีหรือมีความต้องการใช้มากกว่า เช่น ข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง”