ส.อ.ท.หวั่นคู่ค้าบีบตรวจโควิด 100%

แพทย์-ตรวจโควิด สมทุรสาคร
เครดิตภาพ:ปชส.สมุทรสาคร

พิษโควิดระลอกใหม่ทุบซ้ำ SMEs คู่ค้าขู่ยกเลิกคำสั่งซื้อบีบให้ตรวจเชื้อโควิด-19 พนักงานทุกคน เพื่อสร้างความมั่นใจ ส.อ.ท.ไม่รอรัฐ เร่งระดมทุนก้อนแรก 2 ล้านบาท ผุด รพ.สนาม 1,000 เตียง ริมแม่น้ำท่าจีน 50 ไร่ กักตัวผู้ป่วย จ.สมุทรสาคร พร้อมถกอุตสาหกรรมจังหวัดเรดโซนขยายสู่พื้นที่เป้าหมายสเต็ปต่อไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ประชุมหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (เรดโซน) และจังหวัดอื่น ๆ รวม 28 จังหวัด

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ที่ประชุมรายงานว่าขณะนี้โรงงานทุกแห่งได้ทำความสะอาดทุกพื้นที่ โดยเฉพาะโรงงานที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 โดยโรงงานส่วนใหญ่ยังเดินเครื่องผลิตไม่หยุด เนื่องจากรัฐบาลไม่ประกาศล็อกดาวน์ และทางโรงงานประเมินแล้วว่ายังสามารถควบคุมพื้นที่เสี่ยง โดยการปิดพื้นที่บางโซนเพื่อทำความสะอาด และคัดกรองพนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน ตามมาตรการที่รัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโรงงานส่วนใหญ่ก็ได้รับผลกระทบ เพราะการปิดบางโซนผลิตนั้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สปีดการผลิตลดลง ความเต็มที่ในการผลิตก็ลดลง แต่ยังไม่หยุดยังมีการผลิตปกติ ขณะที่แรงงานต่างด้าวมาตรการเชิงรุกเอกชนได้เริ่มการตรวจเชื้อโควิดให้กับพนักงาน ลูกจ้าง แรงงานแล้ว โดยเป็นการใช้งบฯบริษัทเองจึงมีการหยุดใช้เวลา 1-2 วัน ส่งผลการผลิตได้ไม่เต็ม 100% จึงเป็นการลดประสิทธิภาพลง

ในส่วนของการใช้งบฯเพื่อตรวจนั้น รายใหญ่ที่มีกำลังส่วนใหญ่ที่ผลิตสินค้าส่งออก ไม่ติดปัญหาอะไร แต่กับรายเล็ก โดยเฉพาะ SMEs มีปัญหาที่ต้องเตรียมต้นทุนในการตรวจ นอกจากเป็นภาระแล้วปัญหาใหญ่คือลูกค้าที่เป็นคู่ค้ามีการบีบให้บริษัทรายเล็ก ๆ เหล่านี้ ต้องตรวจเชื้อโควิด-19 กับพนักงานทุกคน เพื่อสร้างความมั่นใจกับสินค้าที่จะถูกผลิตออกไป หากรายใดไม่สามารถทำได้ มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งเป็นความกังวลที่ SMEs กำลังกังวลอย่างมาก

“ตอนนี้เริ่มมีจำนวน SMEs แล้วพอสมควรที่โดนคู่ค้าบีบ เขาก็ต้องขอให้รัฐช่วย แม้ว่าเร็ว ๆ นี้ทางกระทรวงแรงงาน เขาจะให้ใช้เงินของกองทุนประกันสังคมเข้ามาช่วยโดยการให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ฟรี ในจังหวัดโซนสีแดงก่อน ซึ่งเราก็รอว่ามาตรการตรงนี้จะใช้จริงหรือไม่ ก็ช่วยลดต้นทุนเอกชนได้ แต่เราก็รอรัฐอย่างเดียวไม่ได้”

ส่วนมาตรการช่วยเหลือสมาชิกอื่น ๆ ที่ทาง ส.อ.ท.กำลังช่วยอยู่ขณะนี้คือ ล่าสุดคณะกรรมการบริหารนัดพิเศษ ได้อนุมัติช่วยเหลือสมาชิกในจังหวัดเรดโซน และพื้นที่ที่มีโรงงานต่างด้าวจำนวนมาก โดยอนุมัติเงินสมทบทุนเบื้องต้น 2 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงพยาบาลสนาม จำนวน 1,000 เตียง ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งขณะนี้มีผู้ร่วมบริจาคและมอบพื้นที่ให้แล้ว 50 ไร่ ติดริมแม่น้ำท่าจีน และติดถนน ถือว่าเป็นพื้นที่สะดวกในการเข้าถึงเพื่อใช้เป็นพื้นที่กักตัว รักษาแรงงานและผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จนกว่าภารกิจและการแพร่เชื้อจะเสร็จสิ้น

ซึ่งคาดว่าการสร้าง รพ.สนามส่วนนี้จะใช้เวลาเร็วที่สุด หรือประมาณ 1 เดือน พื้นที่ดังกล่าวจะใช้เป็นต้นแบบนำร่อง ซึ่งขณะนี้ทางสมาชิกรายใหญ่อย่าง SCG จะช่วยเป็นผู้ออกแบบ ส่วนรายละเอียดฟังก์ชั่นอื่น ๆ ที่ต้องมีประกอบ อย่างเตียง เครื่องมือแพทย์ จะได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสาธารณสุขจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัด ถึงความต้องการที่จำเป็น

“บางอย่างที่ผลิตเองไม่ได้ หลายกลุ่มอุตสาหกรรมเขาพร้อมที่จะซัพพอร์ต บางรายเขาก็สมทบด้านอื่น ๆ ช่วยบริจาคเข้ามา เช่น ชุด PPE แอลกอฮอล์ เป็นต้น เมื่อสมุทรสาครนำร่องเป็นโมเดลแล้ว ก็จะขยายไปจังหวัดอย่างชลบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาชิก ว่าเขาต้องการให้ช่วยอะไรด้านใดบ้าง”