เกษตรฯ รับงบ 2 ล้านเหรียญฯ รัฐบาลญี่ปุ่น ยก จ.น่าน นำร่องลดโลกร้อนภาคเกษตรไทย

เกษตรฯ ผนึก ADB เปิดตัวโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร ปักหมุดเป้าหมาย จ.น่าน นำร่อง จากงบการลดความยากจนของรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ 4 รมต.เกษตรฯ แจงนโยบายสำคัญปี 65 ต่อสำนักงบประมาณ มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และนำภาคเกษตรสู่ความยั่งยืน

วันที่ 13 ม.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank: ADB) มาตั้งแต่ปี 2560 เพื่อดำเนินโครงการ “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตรเพื่อเพิ่มการฟื้นตัวและความยั่งยืนในพื้นที่สูง (Climate Change Adaptation in Agriculture for Enhanced Recovery and Sustainability of Highlands)” โดยได้ร่วมกันคัดเลือกพื้นที่เป้าหมาย ณ ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการ

เนื่องจากเป็นพื้นที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งเป็นพื้นที่สูงที่ประสบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินและการขาดแคลนน้ำ โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ ADB รับผิดชอบหลักในระดับพื้นที่

ล่าสุด ADB ได้เสนอโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำโครงการในลักษณะเป็นจุดสาธิตการทำเกษตรบนพื้นที่สูงในพื้นที่ 6 หมู่บ้าน ณ ต.บัวใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น ผ่านกองทุนเพื่อการลดความยากจนของรัฐบาลญี่ปุ่น จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 3 ปี มีสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินโครงการแล้ว เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 และจะมีการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่สูงได้เรียนรู้วิธีการและแนวทางการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การรับมือและปรับตัวกับภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้

นอกจากนี้ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมนำเสนอแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายการจัดทำงบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี 2565 ต่อสำนักงบประมาณ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณารายจ่ายของสำนักงบประมาณ โดยได้ดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นภาพรวมในด้านต่าง ๆ ได้แก่

1.การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ มีการกระจายน้ำอย่างเหมาะสมและทั่วถึง รวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ตลอดจนป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย 2.การป้องกันโรคระบาดจากพืชและสัตว์ ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสในการแข็งขันของสินค้าเกษตร 3.การพัฒนาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์และออฟไลน์ 4.มาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร เพราะทั่วโลกให้ความสำคัญต่อความปลอดภัย จึงต้องมีเครื่องมือที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ

5.การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล Big Data ในการเชื่อมโยงการทำการเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรมีข้อมูลที่ดีและเพียงพอต่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และวางแผนด้านการเกษตรได้อย่างทันต่อสถานการณ์ 6.การลดต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างโอกาสในการแข็งขัน 7.การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ การพัฒนาพันธุ์พืช สัตว์ ประมง เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์คุณภาพดี มีความหลากหลาย และเพียงพอกับความต้องการใช้ในการทำการเกษตร และ 9.การส่งเสริมอาชีพ ทั้งด้านประมงและปศุสัตว์

ด้าน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า ในด้านของการตลาด กระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นในการขยายตลาดให้กับเกษตรกร โดยในส่วนของ อ.ต.ก. พร้อมขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นตลาดกลางให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเพื่อสนับสนุนภารกิจในด้านการเพิ่มปริมาณน้ำด้วย

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า พร้อมดำเนินภารกิจในการส่งเสริมระบบสหกรณ์และการอบรมในด้านการทำบัญชีสหกรณ์ เพื่อเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเน้นนำงานวิจัยมาช่วยพัฒนาการทำการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง


นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชากรในประเทศไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรฯ จึงต้องมีการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยในส่วนของกรมที่กำกับดูแล จึงต้องมีการทำงานเชิงรุก ทั้งด้านปศุสัตว์ ในการสนัลสนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพและการป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอและได้คุณภาพด้วย