โควิดรอบใหม่ไม่กระทบ “กุ้งไทย” ผลิตได้ 3.1 แสนตัน

กุ้ง
แฟ้มภาพ

ส.กุ้งไทยมั่นใจโควิดระลอกใหม่ไม่กระทบส่งออกปี’64 โตพรวด 15% ปริมาณเลี้ยงเพิ่มทะลุ 3.1 แสนตัน จี้รัฐบาลเร่งแก้ปมร้อน ค่าบาทแข็ง-ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ฉุดไทยเสียโอกาสแข่งขัน ด้านสมาพันธ์เพาะเลี้ยงฯชี้ มาตรการคุมเข้มปิดร้านอาหารหลัง 3 ทุ่ม ฉุดยอดขายกุ้งก้ามกรามในประเทศวูบ 30% ยันสินค้าสัตว์น้ำปลอดภัยคาดไม่กระทบออร์เดอร์ส่งออก แนะเร่งอัดแหล่งเงินทุนเกษตรกรไทย ยกระดับการผลิตป้อนคืนแท่นผู้นำโลก

นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าไทยจะเจอโควิดระลอกใหม่แต่ยังไม่กระทบต่อออร์เดอร์และการส่งออก ประเมินว่าปี 2564 ยังสามารถพลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตได้ 15% จากปี 2563 ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 15% มีปริมาณ 3.1 แสนตัน จากปี 2563 ที่มีปริมาณ 2.7 แสนตัน

โดยปัจจัยบวกจากที่สินค้าไทยยังได้รับความเชื่อมั่นจากคู่ค้า ไม่มีการยกเลิกคำสั่งซื้อ ซึ่งยังสามารถรักษาความพร้อมด้านการผลิต ทั้งการผลิตลูกกุ้งระบบเลี้ยงที่ดี ระบบห้องเย็นที่ดี

สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย
สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน คือ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะนี้เงินบาทแข็งค่า 11% เทียบกับค่าเงินคู่แข่งทั้งรูปีอินเดียอ่อนค่า -14% เงินด่องเวียดนามอ่อนค่า -2% และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่า -4%

ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทย รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงการระบาดโควิดระลอกใหม่ของไทย และผู้นำเข้าบางประเทศ และที่สำคัญคือปัญหาขาดเเคลนตู้คอนเทนเนอร์ ท่าเรือรับสินค้าติดกฎระเบียบ โดยตลาดยุโรปลดจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจเช็กสินค้า ทำให้สินค้าค้างที่พอร์ต ซึ่งขอให้รัฐช่วยแก้ไขโดยเร็ว

“สมาคมต้องติดตามสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ช่วงไตรมาส 1/2564 อย่างใกล้ชิด หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดได้ดี พร้อมทั้งมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั่วถึง คาดว่าจะยิ่งช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นก่อนเข้าสู่เดือน เม.ย.หรือเทศกาลสงกรานต์”

โดยช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2563 ส่งออกแล้วปริมาณ 1.23 แสนตัน ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีปริมาณ 1.35 แสนตัน และมีมูลค่า 35,872 ล้านบาท ลดลง 11% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 40,185 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมการส่งออกปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณ 1.5 แสนตัน ลดลง 14% จากปี 2562 และมีมูลค่า 44,000 ล้านบาท ลดลง 21% จากปี 2562

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดค้าขายสัตว์น้ำโควิดรอบใหม่ขณะนี้ดีขึ้นกว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสินค้าอื่น ๆ เริ่มกลับมาปกติ ทั้งราคาและปริมาณ มีเพียงสินค้ากุ้งก้ามกรามยังไม่ดีมากนัก

บรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ
บรรจง นิสภวาณิชย์ อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ

เนื่องจากเป็นกุ้งที่มีราคาสูง คนไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าเป็นกลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร การท่องเที่ยว โรงแรม และรัฐบาลมีมาตรการปรับเวลาใหม่ และเพิ่มมาตรการแก่ร้านอาหาร ภัตตาคาร งดนั่งร้านหลัง 21.00 น. ส่งผลให้ลดการสั่งซื้อและเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้า ทำให้รายได้ในประเทศหายไป 30%

ขณะที่ราคากุ้งขาวแวนนาไมปรับตัวลดลง 50% จากช่วงก่อนหน้า แต่ขณะนี้เกษตรกรเริ่มมีตลาดขายเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งห้องเย็น ระบายสินค้าได้มากขึ้น ทำให้ภาพรวมเริ่มปรับตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ รวมทั้งมาตรการผ่อนคลาย โดยเปิดตลาดทะเลไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดสินค้าสัตว์น้ำคลี่คลายขึ้นมาก เเละช่วงนี้เป็นช่วงชะลอการจับกุ้งจากสภาพอากาศตามฤดูกาล ส่วนการส่งออกยังไม่มีการยกเลิก

อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป (EU) การควบคุมคุณภาพสินค้า เช่น ปลอดเชื้อโควิด-19 การจัดหาแหล่งเงินทุน โดยยอมรับว่าเกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงและเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร

ดังนั้น แม้ไม่เจอปัญหาโควิด แต่ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไปมาก จากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้น ๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันสถานการณ์กุ้งเปลี่ยนไปมาก ไทยตกไปอยู่อันดับ 6-7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง ถึงเวลาที่ไทยควรต้องหันมาร่วมมือกันนำคำว่ากุ้งไทยกลับมาสู้กับตลาดโลกอีกครั้ง

ทั้งนี้ ประเทศไทยและอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีความได้เปรียบในเรื่องภาพลักษณ์เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ทั้งเป็นแหล่งผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก อาหารกุ้งที่มีประสิทธิภาพ และการที่ไทยสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด-19 ในการควบคุมและจัดการโรคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศไทยได้เปรียบกว่าประเทศคู่แข่งราคาสูงกว่า แต่เกษตรกรต้องผลิตกุ้งให้ได้และต้องลดความเสียหายจากโรคให้ได้ด้วย