“บิ๊กธุรกิจ” กางสูตรบุก ตปท. ชี้เทรนด์ลงทุนโฟกัสอาเซียน

5 บิ๊กธุรกิจล้อมวงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ลงทุนต่างประเทศ “ซี.พี. กรุ๊ป” เผยสูตรลับความสำเร็จ ขยายธุรกิจในสหรัฐ ซื้อกิจการท้องถิ่น ทางลัดครองตลาด แบงก์กรุงเทพชี้เทรนด์หลังโควิด จะกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ-ในภูมิภาคมากขึ้น “ไทยยูเนี่ยน” โฟกัสลงทุนอาเซียน

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 64 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “Select USA : Helping Thai Companies Go Global” โดยเชิญนักธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชนไทยที่มีประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงเปิดมุมมองต่อภาพเศรษฐกิจต่อจากนี้

เอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เปิดเผยว่า สถานทูตสหรัฐได้เชิญผู้นำองค์กรธุรกิจทั้ง 5 ท่าน จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งอาหาร ธนาคาร และพลังงาน มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงมุมมองและประสบการณ์ในการออกไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะโอกาสการลงทุนหลังจากวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) และเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนมุมมองจะมีประโยชน์ต่อธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังมองหาโอกาสในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ นอกจากการแบ่งปันประสบการณ์ที่นำไปสู่ความสำเร็จแล้ว ยังรวมไปถึงการแบ่งปันข้อผิดพลาดเพื่อที่ธุรกิจอื่น ๆ จะได้ใช้เป็นข้อมูลก่อนการออกไปลงทุนอีกด้วย

“ซื้อ-สร้าง” สูตรสำเร็จ ซี.พี.

นายบุญชัย โอภาสเอี่ยมลิขิต ประธานธุรกิจ-สหรัฐอเมริกา บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศของ ซี.พี. กรุ๊ป ว่า หลังจากที่กลุ่มบริษัทประสบความสำเร็จในประเทศแล้ว จึงมองว่าการที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปมีความจำเป็นต้องออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐที่มีขนาดตลาดผู้บริโภค (consumer market) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีวัตถุดิบที่พร้อมรองรับธุรกิจอาหาร รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การออกไปลงทุนต่างประเทศจะต้องมีการตัดสินใจและกำหนดทิศทางที่จะไปให้ชัดเจน ซึ่งกลุ่ม ซี.พี.ใช้กลยุทธ์ผ่านการ “ซื้อ” (buy) และ “สร้าง” (build) โดยเริ่มต้นจากการ “ซื้อ” ธุรกิจที่มีอยู่แล้วในสหรัฐ เพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่งในพื้นที่ วิธีการดังกล่าวช่วยให้บริษัทเข้าใจวัฒนธรรมของตลาด เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคในพื้นที่ได้ดี อีกทั้งเป็นการปูทางให้บริษัทมีแพลตฟอร์มที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต

ขณะที่กลยุทธ์การ “สร้าง” นั้น การที่จะเริ่มสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ (greenfield project) จะต้องใช้ความระมัดระวังมาก เพราะต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่บริษัทยังไม่ทราบ หรือไม่มีความรู้ในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ ในการนี้บริษัทจึงได้ประโยชน์จากการที่มีทีมงานที่แข็งแกร่งในพื้นที่เป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจ

ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะแต่ละประเทศต่างมีปัจจัยเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะในสหรัฐที่แต่ละรัฐ (state) มีความแตกต่างทั้งในแง่ของกฎหมาย ภาษี หลักเกณฑ์การปฏิบัติ ฯลฯ ดังนั้น นักลงทุนจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเข้าไปลงทุน

“ไทยยูเนี่ยน” มีแผนกลับบ้าน

ขณะที่ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป็นบริษัทที่ลงทุนในสหรัฐมายาวนานตั้งแต่ปี 2546 และปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐสูงถึง 40% ส่งผลให้แผนการลงทุนต่อจากนี้ของบริษัทจะเลือกมองมาที่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยภูมิภาคเอเชียยังมีจุดเด่นที่ศักยภาพและโอกาสเติบโตที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในแง่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จึงมีแผนจะกลับไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการกลับบ้าน (coming home) เพราะเป็นการลงทุนในประเทศที่มีความใกล้ชิดกับประเทศบ้านเกิดอย่างประเทศไทย

ส่วนปัจจัยความสำเร็จของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในต่างประเทศ นายธีรพงศ์กล่าวว่า บริษัทใช้วิธีการจับมือกับพันธมิตรในประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีทีมบริหารที่แข็งแกร่งและเข้าใจพื้นที่นั้นจริง ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐที่ขนาดของตลาดอาหารทะเลค่อนข้างใหญ่

ทั้งนี้ แม้กฎเกณฑ์การเข้าไปทำธุรกิจของบริษัทต่างชาติในสหรัฐอาจง่ายเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่การแข่งขันก็สูงมาก สิ่งสำคัญในการออกไปลงทุนต่างประเทศคือ ไม่จำเป็นจะต้องมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ เนื่องจากตอนที่ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ออกไปลงทุนต่างประเทศถือว่ามีขนาดธุรกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และที่สำคัญ คือ ต้องรู้จักลูกค้า รวมถึงต้องมีพาร์ตเนอร์และทีมที่แข็งแกร่ง

“แม้การออกไปลงทุนต่างประเทศจะถือเป็นความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ออกไปไหนเลยจะเป็นความเสี่ยงมากกว่า สะท้อนจากบริษัทที่อยู่รอดจากอดีตมาถึงปัจจุบันก็ประสบความสำเร็จได้จากการออกไปลงทุนต่างประเทศ รวมถึงมีการร่วมมือกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง” นายธีรพงศ์กล่าว

เทรนด์อาเซียนมาแรง

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้เชื่อว่ากระแสโลกาภิวัตน์ (globalization) จะยังสามารถดำเนินต่อไปในโลกหลังโควิด-19 ก็ตาม แต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 น่าจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่ธุรกิจกลับเข้ามาลงทุนในประเทศและในภูมิภาคมากขึ้น (localization and regionalization) ซึ่งในภูมิภาคที่ใกล้ชิดกับประเทศไทยอย่างภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) ความเป็นกลุ่มก้อนทางธุรกิจจึงกลายเป็นจุดแข็งในโลกหลังจากนี้

ขณะที่ประเทศสหรัฐยังถือเป็นผู้นำในธุรกิจการเงิน ตลาดทุน การร่วมทุน ฯลฯ ซึ่งธนาคารกรุงเทพเห็นความสำคัญของตลาดดังกล่าวจึงตัดสินใจขยายธุรกิจไปสหรัฐ โดยเริ่มแรกเป็นการขยายธุรกิจผ่านการตั้งสาขาเพื่อให้บริการลูกค้าคนไทยและเอเชีย ก่อนที่จะขยายมาให้บริการอื่น ๆ เช่น สินเชื่อการค้าต่างประเทศ (trade finance) ฯลฯ

พลังงานรับมือนโยบาย “ไบเดน”

นายอาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL กล่าวว่า สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีของ IVL เชื่อว่านโยบายของนายโจ ไบเดน จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์นำเอาแนวคิดความยั่งยืน (sustainability) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจของ IVL ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืนเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับเปลี่ยน (transform) ไปสู่พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มากขึ้น ผ่านการจับมือพันธมิตรทางธุรกิจทั้งบริษัทขนาดใหญ่ไปจนถึงบริษัทขนาดเล็กที่มีศักยภาพ ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการเข้าลงทุนบริษัทแบตเตอรี่ในประเทศเยอรมนี จากก่อนหน้านี้มีข่าวลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ในประเทศจีน

ควบรวมกิจการหลังโควิด-19

เอกอัครราชทูตไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาการขยายธุรกิจไปต่างประเทศด้วยวิธีการควบรวมกิจการ (M&A) ดีลการซื้อกิจการที่เสร็จสมบูรณ์หายไป ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะยังมีการพูดคุยกัน แต่หลาย ๆ ธุรกิจไม่สามารถปิดดีลได้ จากการติดต่อสื่อสารที่ยากลำบาก อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จะเริ่มเห็นความก้าวหน้าหรือผลสำเร็จจากดีลการควบรวมกิจการมากขึ้น จากสถานการณ์การเดินทางระหว่างประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงมีธุรกิจบางส่วนที่ล้มหายตายจากไปด้วย