โควิดยังไม่กระทบน้ำมันดิบ ทั้งปียืน 50$-รัฐช่วยลดค่าไฟ

ราคาน้ำมัน

ผู้ค้าน้ำมันประเมินราคาน้ำมันดิบทั้งปีไม่เกิน 50 เหรียญ/บาร์เรล สอดคล้องกับประมาณการของ สนพ. พบการระบาดโควิดรอบใหม่ในประเทศทำความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน-ดีเซลลดลง แต่น้ำมันเจ็ท
ยังย่ำแย่เหตุไม่มีดีมานด์เข้ามาเลย ขณะที่ กกพ.กำกับพลังงานเร่งหารือ 3 การไฟฟ้าใช้เงิน 8,000 ล้านบาทลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนรอบสอง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เทกซัสในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ว่า มีการปรับราคาสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 48.40 เหรียญ/บาร์เรล ปรับขึ้นเป็น 53.50 เหรียญ/บาร์เรล หรือขยับขึ้นมา 5 เหรียญ โดยการปรับขึ้นราคาดังกล่าวเป็นผลมาจากการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน OPEC+ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 64 มีมติให้ลดปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือนกุมภาพันธ์ลงเหลือ 7.125 ล้านบาร์เรล/วัน และในเดือนมีนาคมที่ระดับ 7.05 ล้านบาร์เรล/วัน จากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้ราคาปลีกน้ำมันในประเทศต้องปรับขึ้น 2 รอบ โดยในกลุ่มเบนซินปรับขึ้นประมาณลิตรละ 80 สตางค์ ส่วนกลุ่มดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 60 สตางค์

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2564 โดยล่าสุดราคา ณ วันที่ 15 ม.ค.อยู่ที่ 55 เหรียญ/บาร์เรล “อาจจะยังเร็วไปที่จะบอกว่าราคานี้เป็นราคาขาขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่งก็มีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เรื่องเทรดวอร์จะไม่รุนแรง และสหรัฐจะมีความชัดเจนในเรื่องการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาวัคซีนโควิด การระบาดรอบใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน จะล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ขณะที่บางจากฯยังคงยึดสมมุติฐานเดิม base case ที่คาดว่าระดับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 46 เหรียญ/บาร์เรล”

ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มประเทศโอเปกพลัสปรับลดกำลังการผลิตลง ประกอบกับปัจจัยอากาศหนาวเย็นลงในหลายประเทศ ทำให้ความต้องการใช้พลังงานมากขึ้น แต่ก็ยังคงคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันไตรมาส 1 จะอยู่ในกรอบที่ทาง PRISM เคยประเมินไว้ในช่วงปลายปี 2563 ที่ 45-50 เหรียญ/บาร์เรล และมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ถึง 50 เหรียญ แต่หากสามารถขยับขึ้นไปถึง 55 เหรียญจะถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจน้ำมัน “ปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโควิดในต่างประเทศตลาดรับรู้ไปแล้ว จึงเริ่มจะไม่มีผลต่อราคาพลังงานเท่าไรนัก และจากที่หารือกับทาง ปตท.ยังประเมินว่า น้ำมันดิบมีโอกาสที่จะอยู่ที่ 
50 เหรียญ/บาร์เรล”

“ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่จากการติดตามของ สนพ. พบว่า ในช่วง 10 กว่าวันที่ผ่านมา การใช้น้ำมันลดลงมาก เช่น เบนซิน มีการใช้ประมาณ 28.5 ล้านลิตร จากปีก่อนที่ 31.8 ล้านลิตร ดีเซล 54.3 ล้านลิตร จากปีก่อนที่ 64.1 ล้านลิตร ส่วนปริมาณน้ำมันเครื่องบินยังไม่มีเลย ด้านราคาก๊าซ LNG ขยับขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2 เหรียญหรือขึ้นมาเป็น 32 เหรียญ แต่ด้วยต้นทุนที่ ปตท.ทำสัญญาซื้อขายระยะยาวไว้ประมาณ 7.5-8 บาทก็ใช้ของ ปตท.ไปได้ เช่นเดียวกับ LPG รัฐบาลยังมีมาตรการตรึงราคาไว้ 3 เดือน ถัง 15 กก. ราคา 318 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 30-40 บาท ส่วนราคา NGV ก็เป็นราคาที่ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ กก.ละ 11-12 บาท”

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.ร่วมกับ 3 การไฟฟ้ากำลังรวบรวมข้อมูลมาพิจารณาปรับประมาณการการใช้ไฟฟ้าและค่า Ft ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จากที่ กกพ.ได้เคยประเมินแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าและค่า Ft เทียบเมื่อปลายปี 2563 พบว่า แนวโน้มค่า Ft จะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังในงวดที่ 2 ระหว่างเดือน พ.ค.-ส.ค. กับ ก.ย.-ธ.ค. ตามทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ก่อนที่จะเกิดโควิดระลอกใหม่ หากประเมินเบื้องต้นการใช้ไฟฟ้ายังปกติใกล้เคียงช่วงเดียวกันกับปี 2563 แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมจากภาครัฐ มาตรการ work from home ของรัฐบาลและแนวโน้มมีโอกาสที่ค่า Ft อาจจะทรงตัว

“กกพ.จะประเมินจากปัจจัยสถานการณ์การระบาดรอบใหม่อย่างใกล้ชิด ร่วมกับปัจจัยหลักอีก 3 ข้อคือ ราคา spot LNG อัตราแลกเปลี่ยน และนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล อาทิ พลังงานหมุนเวียน-โรงไฟฟ้าชุมชน ประมาณเดือนมีนาคมคงประกาศได้”

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ กกพ.จึงได้หารือ 3 การไฟฟ้าถึงแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่มีภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากมาตรการ work from home ของรัฐบาลเป็นระยะเวลา 2 เดือนคือ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้า 23.7 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 97 ของจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศใช้งบประมาณ 8,202 ล้านบาท

โดยเงินจำนวนนี้จะเป็นเงินที่เรียกคืนฐานะการเงินของ 3 การไฟฟ้าที่ กกพ.กำกับในปี 2563 รวมกับเงินคงเหลือเพิ่มเติมจากการปรับลดผลตอบแทนจากการลงทุนของการไฟฟ้า (ROIC) ในปี 2563 พร้อมทั้งหักค่าใช้จ่ายคงค้างในการสนับสนุนมาตรการโควิด-19 รอบที่ 1 แล้ว จำนวน 3,000 ล้านบาท และส่วนที่นำเงินจากรัฐบาลผ่านงบประมาณภาครัฐอีก 5,202 ล้านบาท


ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มพลังงานคาดการณ์ถึงแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในไตรมาส 1 “จะปรับลดลงเล็กน้อย” เพราะมีอากาศเย็น ซึ่งทางรัฐบาลจะดำเนินมาตรการค่าไฟเยียวยาผลกระทบเรื่องโควิด โดยอาศัยเงินคอร์แบ็ก 3 การไฟฟ้าที่มีอยู่ 3,000 ล้านบาทดำเนินการสำหรับเดือนแรก ส่วนอีก 5,000 ล้านบาทอาจจะต้องขอใช้ “งบฯกลาง” เข้ามาช่วย