ประกันรายได้ข้าว งวดที่ 11 ออกแล้ว เกษตรกรที่ยังไม่ได้เงิน พร้อมเร่งตรวจสอบ

พาณิชย์ เคาะประกันรายได้ข้าว งวดที่ 11 ข้าวหอมมะลิ ได้รับชดเชยสูงสุด 33,443.34 บาท เกษตรกรที่ยังมีบางรายไม่ได้รับเงินมั่นใจเร่งตรวจสอบพร้อมโอน

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้อนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/64 รอบที่ 1 งวดที่ 11 โดยมีมติจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 11-17 ม.ค. 2564 จำนวน 5 ชนิด

ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ซึ่งเป็นการจ่ายชดเชย 11 งวดติดต่อกัน เพราะทุกชนิดยังมีราคาต่ำกว่าราคาที่ประกันรายได้

โดยผลการพิจารณาราคาตลาดปัจจุบันกับราคาที่ประกันรายได้ พบว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 12,611.19 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 2,388.81 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 12,011.66 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 1,988.34 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 9,519.73 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 480.27 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 10,883.82 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 116.18 บาท และข้าวเปลือกเหนียว ราคาตลาดอยู่ที่ตันละ 11,562.86 บาท มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายตันละ 437.14 บาท

ทั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 11 ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 33,443.34 บาท, ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 31,813.44 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 14,408.10 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 2,904.50 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 6,994.24 บาท

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประกันราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ตัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการเสริมเพื่อชะลอผลผลิตข้าวเข้าสู่ตลาด ทั้งโครงการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร สหกรณ์เสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 3 เป้าหมาย 4 ล้านตัน

ส่วนกรณี การจ่ายเงินชดเชยสำหรับเกษตรกรที่ยังมีบางรายไม่ได้รับเงิน เพราะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กำลังตรวจสอบการแจ้งขึ้นทะเบียน เพราะมีแปลงซ้ำ ชื่อซ้ำ รวมทั้งต้องตรวจสอบชนิดข้าวที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูก โดยเกษตรกรที่เคยแจ้งไว้ตามโครงการปีที่ 1 ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ส่วนเกษตรกรที่แจ้งเพาะปลูกข้าว 2 ชนิด ธ.ก.ส. ก็อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยจะดูว่าข้าวชนิดไหน เกษตรกรได้ประโยชน์สูงสุด และเมื่อจ่ายแล้ว หากยังไม่เต็มโควตาที่จะได้รับ ก็จะพิจารณาจ่ายในส่วนของข้าวชนิดที่ 2 ต่อไป