แล็บทดสอบกัญชา สวทช. รายแรกของไทย สมอ. จ่อขึ้นทะเบียน

กระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมขึ้นทะเบียนรับรองเป็นแล็บทดสอบกัญชารายแรกของไทย หนุนผู้ประกอบการแปรรูปกัญชาเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ ออกสู่ตลาดโลก โดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำจากคู่ค้าประเทศปลายทาง

นายสุชาติ ไตรแสงรุจิระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เยี่ยมชมห้องแล็บศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบของ สวทช. เพื่อเตรียมขึ้นทะเบียนเป็นห้องแล็บทดสอบตามมาตรฐาน มอก.17025-2561 หรือมาตรฐาน ISO/IEC 17025-2017 ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการห้องแล็บที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสากล สำหรับทดสอบกัญชาเป็นรายแรกของประเทศไทย คาดว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะสามารถให้การรับรองได้ภายในเดือนมีนาคม 2564 นี้

ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการขับเคลื่อนกัญชาเสรีของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาที่ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว จึงได้ผลักดันให้ภาคเอกชนแปรรูปกัญชาเป็นสินค้าประเภทต่าง ๆ ออกสู่ตลาด สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองในครั้งนี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าที่ผ่านการทดสอบจากห้องแล็บนี้ ว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ ขณะเดียวกันก็สามารถนำผลการทดสอบมาใช้เพื่อส่งสินค้าออกนอกประเทศ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบซ้ำจากคู่ค้าหรือประเทศปลายทาง ทำให้เกิดความคล่องตัว มีความน่าเชื่อถือ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการส่งออกหรือจำหน่ายสินค้าอีกด้วย

สำหรับ สวทช. ถือว่าเป็นรายแรกของประเทศไทยที่กำลังจะได้รับการรับรอง ตามมาตรฐาน มอก.17025-2561 ในขอบข่ายการวิเคราะห์สารสกัดจากกัญชา ซึ่งถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่มีความน่าเชื่อถือ โดยกระบวนการตรวจประเมินความสามารถห้องปฏิบัติการ ดำเนินการ โดยคณะผู้ตรวจประเมินของ สมอ. ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ มีความสามารถ เป็นไปตามมาตรฐานสากล

โดยการตรวจสอบ ความถูกต้อง แม่นยำ ของเครื่องมือ เป็นไปตามมาตรฐานวิธีทดสอบที่เกี่ยวข้อง และสอบกลับได้ไปยัง SI unit, ระบบการจัดการตัวอย่างตั้งแต่ การรับ เตรียม การดำเนินทดสอบ ที่ถูกต้องแม่นยำ, มีการควบคุมคุณภาพผลการทดสอบให้มีความถูกต้องแม่นยำ สม่ำเสมอ ทุกครั้ง และการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการรับรองห้องปฏิบัติการ ประกอบ ด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความสามารถ ในสาขาที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังสามารถแสดงเครื่องหมาย ILAC mark ตามข้อกำหนดขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ในรายงานผลการทดสอบ ถือว่าผลทดสอบของหน่วยงานมีความน่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั่วโลก