หนุนติดโซลาร์เซลล์โรงพยาบาลต้นแบบ Clean Energy for Life

พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์เซลล์” ถือเป็นพลังงานที่เป็นทางเลือกที่ชุมชน องค์กร และหน่วยงานเริ่มนิยมนำไปใช้มากขึ้น เพราะไม่เพียงช่วยลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้าในรูปแบบเดิม แต่ยังเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยปัจจุบันมีการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ทั้งรูปแบบโซลาร์ฟาร์ม

โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์รูฟท็อป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและพื้นที่ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ในฐานะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับแนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จุดเริ่มต้นของการเริ่มโครงการ

ปัจจุบัน กกพ. เราทุกคนกำลังเดินทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ และหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) มีหัวข้อ พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ซึ่ง กกพ.มองว่าเป็นเรื่องสากลที่จะทำให้เกิดพลังการสื่อสารและการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมไทย

ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) สนับสนุนการดำเนินโครงการภายใต้แนวคิด Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ใน 26 โครงการ และสนับสนุนภาคีจากภาครัฐและเอกชนรวม 25 องค์กร

อาทิ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, อสมท, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาด ให้สังคมและประชาชนมีความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาด

ซึ่งเป็นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 97 (5) ใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า โดยมีการดำเนินการของกองทุนฯจะอยู่ภายใต้กำกับ กกพ. และมีสำนักงาน กกพ. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการกองทุน

ลุยต่อ Clean Energy for Life

การดำเนินการตามแนวคิด Clean Energy for Life ในปี 2562-2563 ที่ผ่านมาเราสร้างการตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ผ่านกลยุทธ์การสื่อสารหลากหลายแบบ ประสบความสำเร็จ

จึงมองว่าต้องสานต่อในปี 2563-2564 เน้นไปที่การสร้างแรงบันดาล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์พลังงานชีวมวลและชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศ สังคม และตัวเรานั้นมีอะไรบ้าง จะเห็นผลเมื่อไร ปีไหน

“ในระดับโลก เช่น การส่งเสริมเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ การนำขยะมาผลิตไฟฟ้า เป็นตัวอย่างการสร้างความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ ลดปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ส่วนในระดับประเทศ

เมื่อประชาชนและผู้ผลิตไฟฟ้ามีความรู้ความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานสะอาดและมีส่วนร่วมแล้ว เราจะลดการพึ่งพาพลังงานจากนอกประเทศ ช่วยให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอส่วนในระดับบุคคล แน่นอนว่าเมื่อสิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ”

โซลาร์เซลล์ 77 โรงพยาบาล

ในปี 2563-2564 นี้ เราเริ่มเห็นผลสำเร็จจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาลกว่า 77 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมียอดบริจาคผ่านบัญชีกลางของมูลนิธิแพทย์ชนบทเพื่อไฟจากฟ้าอยู่ที่ 5,061,833 บาท

หลังจากเริ่มรับการสนับสนุนมาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ผลสำเร็จแบบรูปธรรมจะได้เห็นอย่างแน่นอน คือ การติดตั้งระบบโซลาร์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศไทยในปี 2564 เป็นต้นไป

“บทบาทของสำนักงาน กกพ.จะเน้นสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านพลังงานสะอาดต่อสังคมผ่านแคมเปญสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโซลาร์ภาคประชาชน

และจุดประสงค์ของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสนับสนุนการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาล 77 แห่งทั่วประเทศ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายไฟฟ้า

ซึ่งโรงพยาบาลจะสามารถนำเงินส่วนต่างไปจัดหาอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้เพิ่มมากขึ้น โดยโรงพยาบาลจะไม่มีการขายไฟกลับให้ทางรัฐ”

ลดต้นทุนโรงพยาบาลละ 4 ล้าน

การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงพยาบาล ต้นทุนการติดตั้ง 100 กิโลวัตต์ งบประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาท สามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าโรงพยาบาลได้เดือนละ 60,000 บาท หรือ 720,000 บาทต่อปีต่อโรงพยาบาล ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์นี้มีอายุการใช้งาน 25 ปี จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้ 18 ล้านบาทนับได้ว่าเป็นการพัฒนาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

“โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา เป็นตัวอย่าง ที่ได้ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ขนาด 72 กิโลวัตต์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 32,000 บาท หรือปีละ 400,000 บาท ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำเงินที่เหลือไปหมุนเวียนใช้จ่ายด้านอื่น เช่น นำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”