ส.อ.ท. ถกแบงก์ชาติศุกร์นี้ ขอแก้ พ.ร.บ.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน

ส.อ.ท. เตรียมหารือธปท.ศุกร์นี้ (22 ม.ค.63) เสนอแก้ พ.ร.บ.เงินกู้ ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท หวังลดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำลง ก่อนลุ้น ครม. เคาะสัปดาห์หน้า วอนรัฐคุมการระบาดเข้มงวด เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน หลังโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงกว่ารอบแรก ทำดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.63 ตกมาอยู่ที่ระดับ 85.8 จากระดับ 87.4 ลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน

วันที่ 20 มกราคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2564 นี้ จะทำการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ถึงการแก้ไข พ.ร.บ.เงินกู้ ซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท ที่ขณะนี้มีการปล่อยไปเพียง 100,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ยังคงเหลือวงเงินอีก 3-4 แสนล้านบาท ที่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่าง SMEs ควรเข้าถึงและได้รับโอกาสนี้ การหารือดังกล่าวจะเน้นไปที่ “การให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลง 1%” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เช่นสินเชื่อ MLR MRR ขณะเดียวกันก็ต้องหารือกับทาง กระทรวงการคลัง ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังต้องการให้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการเสริมสภาพคล่องจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของแต่ละจังหวัด หรืออาจให้พักชำระหนี้ชั่วคราว รวมทั้งให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกัน SMEs เป็น 50% หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ ขณะเดียวกันสนับสนุนให้มีโครงการช็อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564

และจากผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ปัจจัยลบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงกว่ารอบแรก และขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่งและกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด

อีกทั้ง ขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดปัจจัยดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ด้านภาคการส่งออกยังคงประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ส่งออกสินค้าได้น้อยลง ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตาม อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ยังเป็นเรื่อง สภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่ทางกลับกันได้ครายกังวลเรื่องการเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน จึงคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าดัชนีฯ น่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 ในเดือน พ.ย. 2563 เพราะยังกังวลต่อความไม่แน่นอนของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการมีการปรับแผนการดำเนินกิจการมากขึ้น

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1.ขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด 2.เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าอาหารของไทย 3.เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม