อินทิรา โภคปุณยารักษ์ ผอ.อคส.หญิง ชูหลัก “ธรรมาภิบาล”

สัมภาษณ์

หลังจาก ศ.ร.ต.อ.ดร.สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง “ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.)” ไปเมื่อ 22 พฤษภาคม 2560 ทำให้ตำแหน่งนี้ว่างเว้นมานาน 5 เดือน คณะกรรมการสรรหาผู้อำนวยการ อคส.ได้ดำเนินการสรรหาจนได้ข้อสรุปเสนอชื่อ “อินทิรา โภคปุณยารักษ์” อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ผู้ลงสมัคร ผอ.อคส. ให้เข้ามารับตำแหน่งแทน โดยได้เริ่มขับเคลื่อนงาน

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ผอ.อคส.หญิงคนแรก ถึงแนวทางการทำงานใน อคส. องค์กรที่หลายคนมองว่าเป็นแดนสนธยา เป็นเครื่องมือการเมือง

Q : ความท้าทายในตำแหน่ง ผอ.อคส.

อย่างที่ทราบว่า องค์กรนี้มีข่าวไม่ดีค่อนข้างมาก แต่คิดว่าสิ่งพวกนี้ทุกอย่างแก้ไขได้ ทุกเรื่องมีที่มาที่ไป การมาทำงานในตำแหน่งนี้ มีความตั้งใจจริง ๆ ว่า จะเข้ามาทำองค์กรนี้ให้ดี ให้โปร่งใส มีธรรมาภิบาลให้มากที่สุด ช่วงแรกที่เข้ามาสัมผัสกับพนักงาน และผู้บริหาร อคส.เห็นว่า ทุกคนมีความตั้งใจที่ดี แต่อาจยังไม่มีคนนำที่ชัดเจน ส่วนตัวคิดว่าคงจะมาช่วยเติมเต็มได้ ส่วนในเรื่องเนื้องานหรือรายละเอียดของงาน เชื่อว่าทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมาปรับสิ่งที่ยังขาดหายไป หรือกระบวนการทำงานที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังมีความเสี่ยงตรงไหน ต้องปรับการทำงานตรงนั้น เพื่อปิดความเสี่ยงขององค์กร คิดว่าสามารถใช้ประสบการณ์จากการทำงานในส่วนของแบงก์มาช่วยในการบริหาร การจัดการได้

การตัดสินใจมาทำงานที่ อคส.ถือเป็นเรื่องที่ท้าท้าย เพราะชีวิตทั้งที่ชีวิตที่ผ่านมา เราคือแบงเกอร์มาตลอด ตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน ประมาณ 36 ปี เมื่อมีคนติดต่อไป และเราเองสนใจ รู้สึกว่าท้าทาย อย่างน้อยมาเป็นเบอร์ 1 จากเดิมเป็นเบอร์ 2 คิดว่าในช่วงชีวิตของการทำงานน่าจะภาคภูมิใจในการเข้ามาทำงานนี้

Q : หลักคิดในการทำงาน

ปัญหาทุกอย่างเกิดขึ้น แก้ไขได้ ไม่ใช่มองทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทั้งหมด แต่จะมองว่าเราจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ยึดหลักว่าปัญหาทุกอย่างมีไว้ให้แก้ไข และปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้โดยใช้สติในการแก้ไข เราถูกสอนจากเจ้านายมาอย่างนี้ จะสอนลูกน้องอย่างนี้เหมือนกัน อย่าไปสติแตกกับสิ่งที่เกิด และเรื่องทีมงานสำคัญมากต้องมีความสามัคคีจะประสบความสำเร็จในการทำงานแน่นอน

Q : ภารกิจสร้างรายได้ เช่น นำคลังธนบุรีไปทำศูนย์การค้า

ได้ทราบข้อมูลว่าคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือบอร์ด อคส. ได้ตัดสินใจดำเนินโครงการผลักดันเรื่องนี้ และมีการจ้างที่ปรึกษา โดยได้อาจารย์ (จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มาศึกษาแล้ว เท่าที่พิจารณามีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง และเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ต้องการหารายได้เข้ามาเลี้ยงองค์กรให้มากขึ้น จากเดิมที่มีรายได้จากการดำเนินโครงการรับจำนำ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ต้องหารายได้จากส่วนอื่นเข้ามาเลี้ยงตัวเองแทน โดยส่วนตัว จากประสบการณ์ในการทำงานด้านแบงก์คิดว่าไม่น่าจะยากนัก

สำหรับกระบวนการทำงานในส่วนของคลังธนบุรี จะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด อคส.รอบถัดไป เพื่อเสนอขออนุมัติ หลังจากนั้นจะมีขบวนการเรื่องเข้าบอร์ด PPP ต้องทำเรื่องถึงท่านนายกรัฐมนตรีก่อน ตอนนี้กำลังดูในรายละเอียด แต่เห็นไทมิ่งค่อนข้างชัดหมดแล้ว และทราบว่าขณะนี้มีเอกชน 4 รายสนใจลงทุนยังไม่มีมาเพิ่ม

Q : อคส.ลงทุนเองหรือร่วมทุน

คงจะใช้โมเดลการร่วมทุน อคส.คงไม่ลงทุนเอง เพราะต้องใช้ทุนและกำลังคนค่อนข้างมาก และคนใน อคส.ไม่เชี่ยวชาญเชิงธุรกิจที่ใหญ่มาก คน อคส.ยังเป็นกึ่ง ๆ ราชการ

Q : แผนระยะสั้นช่วง 2-3 ปีจะทำอะไร

เท่าที่พิจารณาแผนการดำเนินการของโครงการแปลงคลังธนบุรีแล้วคิดว่า โครงการนี้ยังไม่น่าจะสร้างรายได้ให้กับองค์กรภายในช่วง 2-3 ปีนี้ ดังนั้น จึงต้องหารายได้เข้ามาให้องค์กร โดยจะต้องมีแผนทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในส่วนแผนระยะสั้นคงต้องทำธุรกิจอย่างอื่นเข้ามาเสริม เช่น การบริหารจัดการคลังอื่นที่ อคส.ดูแลอยู่ เพื่อเพิ่มรายได้ เช่น ทำเป็นตลาดสินค้าเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างรายได้ให้ อคส.ด้วย และการค้าข้าวถุง อคส.ที่ทำอยู่เดิม แต่ทำตลาดได้น้อย จะคิดหาวิธีการทำตลาดให้มากขึ้น โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในการหาตลาดทั้ง 2 ส่วน

Q : ผลักดันตลาดข้าวถุงอย่างไร

ในเดือนธันวาคมนี้จะมีการจัดตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นจังหวะดีที่ทางเอสเอ็มอีแบงก์เป็นเจ้าภาพในการจัดการงานตลาดคลองผดุงในช่วงนั้น ได้ประสานไปเปิดบูท เพื่อจัดจำหน่ายขยายตลาดในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมองถึงโอกาสในการทำตลาดข้าวถุง อคส.ในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เท่าที่ทราบเดิมเคยนำข้าวถุงเข้าไปวางขาย ถูกมองว่าแข่งกับเอกชน เรากำลังมองว่าพอจะมีแนวทางแก้ไขหรือมีแนวทางดำเนินการได้อย่างไรบ้าง ในประเด็นเหล่านี้

Q : การบริหารเพื่อเพิ่มรายได้คลังสินค้า

เท่าที่ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว คือ มีคลังในบางพื้นที่อาจจะพัฒนาเป็นตลาดกลางให้เกษตรกรเข้าไปจำหน่ายสินค้า โดย อคส.จะเปิดประมูลให้เอกชนไปทำ ซึ่ง อคส.จะได้รายได้จากค่าเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องเร่งทำให้เร็ว เพราะทำไม่ยาก โครงการนี้ไม่ใหญ่เท่าคลังธนบุรี ซึ่งตอนนี้กำลังคัดเลือกพื้นที่คลังที่เหมาะสม และทำแผนโครงการเสนอบอร์ด

Q : เป้าหมายการสร้างรายได้ปีแรก

ต้องไปพิจารณาในรายละเอียดของแผนเดิมที่ อคส.เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตัวชี้วัดและแผนฟื้นฟูองค์กรเป็นอย่างไร ทำเป็นแผนเสนอบอร์ดอีกครั้ง

Q : ปัญหาคดีความที่เกี่ยวข้อง

เท่าที่ทราบรายงานจากทีมงาน และหารือเบื้องต้น คิดว่าในเรื่องคดีข้างนอกคงจำเป็นต้องให้เป็นไปตามกระบวนการของศาลไป ส่วนเรื่องภายในที่มีการตั้งคณะกรรมการสอบมีประมาณ 80 คดี ต้องให้ความยุติธรรมกับพนักงานว่าทำผิดจริงด้วยความตั้งใจ หรือด้วยกระบวนการไม่เอื้อ หรือคำสั่งหรือระเบียบไม่ชัดเจน จะต้องให้ความยุติธรรมกับพนักงาน ถือว่าเรื่องขวัญและกำลังใจของพนักงานของรัฐเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพนักงานต้องตามตำแหน่งหน้าที่ตรงนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าต้องให้ความยุติธรรมในการตรวจสอบพิจารณาเป็นหลัก

Q : ปัญหาหนี้คลังกลาง

กำลังตรวจสอบข้อมูลในรายละเอียด ทราบว่าท่านประธานบอร์ด อคส.(พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง) ได้เชิญผู้ประกอบการมาเคลียร์ และรายไหนที่สรุปได้ ตัวเลขตรงกัน ไม่ติดปัญหาเรื่องคดีความ เราพร้อมจะจ่ายให้ หลังจากที่ได้รับงบประมาณมาจะทยอยจ่ายไป แต่มีประเด็นเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่ง อคส.ต้องจัดสรรไปตามความเหมาะสม และตามความยุติธรรมที่ผู้ประกอบการแต่ละคนจะต้องได้รับ งบประมาณในส่วนนี้จะแยกออกจากงบประมาณในส่วนของการบริหารจัดการ อคส.อยู่แล้ว

Q : ขณะนี้ระบายข้าวล่าช้าเกิดภาระค่าเช่าคลัง

ภาระค่าเช่าคลังเป็นไปตามสัญญา คิดว่าไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะคงจะทยอยระบายข้าวไปตามแผน ซึ่งคงจะพยายามเคลียร์ระบายให้หมดโดยเร็ว

Q : ครม.เร่ง อคส.เสนอแนวทางระบายข้าวโพดที่ค้าง

คงต้องเร่งเหมือนกัน แต่เราต้องประสานกับกรมการค้าต่างประเทศ ในการกำหนดแนวทางระบายข้าวโพด มีคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งวางแผนว่าจะตระเวนตรวจสอบคลังข้าวโพดก่อนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร แต่โดยหลักมีบริษัทเซอร์เวเยอร์เป็นผู้รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว