พาณิชย์ พร้อมฟัง “มาม่า” ค้านขึ้นภาษีเอดีฟิล์มบีโอพีพี

กรมการค้าต่างประเทศเปิดทาง “มาม่า” และผู้ประกอบการทุกกลุ่มที่ใช้สินค้าสำเร็จรูปที่ทำจากฟิล์มบีโอพีพี ยื่นเอกสารหลักฐานแสดงผลกระทบได้ เหตุยังอยู่ในช่วงการพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นการใช้มาตรการเอดี ชี้จะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลรอบด้าน  

ตามที่มีบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา “มาม่า” แสดงความไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (เอดี)สินค้าฟิล์มบีโอพีพี โดยนะบุว่าจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างกับทุกอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะมาม่าจะมีต้นทุนสูงขึ้นจากปัจจุบันที่มีต้นทุนหีบห่อโดยรวมประมาณ 10% ของต้นทุนรวม หรือคิดเป็น 0.50 บาทต่อซอง หากพิจารณาใช้เอดีจะทำให้แบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว อาจต้องปรับขึ้นราคา ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะไม่อยากให้กระทบผู้บริโภค

ล่าสุดนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างการไต่สวนการทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าฟิล์มบรรจุภัณฑ์ไบแอคเซียลลี ออเรียนเต็ดโพลิโพรพิลีน หรือฟิล์มบีโอพีพี ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศ ผู้ใช้ในประเทศ

โดยยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฟิล์มบีโอพีพีทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ยา เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ที่เห็นว่าอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเอดี สามารถที่จะยื่นรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาให้กรมฯ ใช้ประกอบการพิจารณาได้

“ล่าสุด ที่มาม่าออกมาระบุว่าหีบห่อทื่ใช้ในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะได้รับผลกระทบ ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น จากการขึ้นภาษีเอดี กรมฯ ก็ขอให้มาม่ายื่นรายละเอียดผลกระทบมาว่าเป็นอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของกรมฯ อยู่แล้ว ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน และยังทำให้รัฐมีข้อมูลในการพิจารณาครบทุกภาคส่วน โดยอุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากมาม่า ก็สามารถยื่นแสดงผลกระทบเข้ามาได้เช่นกัน กรมฯ พร้อมที่จะรับฟัง”นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ ไม่ได้เปิดโอกาสให้แค่อุตสาหกรรมที่ใช้บรรจุภัณฑ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้เอดี แต่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หรือทินเพลต (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระป๋องบรรจุอาหาร) ที่กรมฯ กำลังพิจารณาใช้มาตรการเอดีหรือเซฟการ์ด สามารถยื่นผลกระทบเข้ามาได้ด้วย

ทั้งนี้การยื่นรายละเอียดผลกระทบ จะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมเอง เพราะผลกระทบเหล่านี้ จะถูกนำไปใช้ประกอบการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาว่าจะประกาศเรียกเก็บเอดีหรือไม่ โดยตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ได้เขียนไว้ชัดเจนในมาตรา 7 ว่า การใช้มาตรการเอดี ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณประกอบกัน