ค่าเงินบาทแข็งฉุดส่งออกปี’63 ติดลบ 6.01% ต่ำสุดรอบ 6 ปี

การส่งออก
by STR / AFP

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยส่งออกไทยทั้งปี 2563 หดตัว 6.01% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี

วันที่ 22 มกราคม 2564 นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.71% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง

เนื่องจากมีผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการมีวัคซีนโควิด -19 ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (มกราคม–ธันวาคม) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01%

“การส่งออกทั้งปี ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าที่มองไว้ติดลบ 7% เนื่องจากช่วงปลายปีสินค้าหลายกลุ่มของไทยฟื้นตัวส่งออกได้ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น การนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางมีการเติบโต ซึ่งสอดคล้องไปกับหลายประเทศที่ส่งออกขยายตัวเป็นบวก เช่น เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย จีน และไต้หวัน เป็นต้น”

พิมพ์ชนก วอนขอพร

สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร

2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์

3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้

นอกจากสินค้า 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าที่มีการกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณ

ขณะที่การนำเข้า เดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 19,119.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.62% ส่งผลให้ไทยมีการค้าเกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าทั้งปี 2563 (มกราคม-ธันวาคม) มีมูลค่า 206,991.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.39% ส่งผลให้ทั้งปี 2563 ไทยมีการค้าเกินดุล 24,476.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 240,727 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้อยู่ที่ 20,061 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากไทยสามารถส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

โอกาสที่ไทยจะส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 5% หรือมีมูลค่า 243,042 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น

ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาของ WTO ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมของสหรัฐที่ไทยต้องปรับตัวเพื่อดันการส่งออกในกลุ่มนี้ที่จะเติบโต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า โซลาร์เซลส์

รวมถึงกลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมันที่จะส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องทั้ง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก

ขณะที่ปัจจัยลบที่ต้องติดตาม ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว

แต่เชื่อว่าหลังไตรมาส 1 ของปีจะดีขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า อาทิ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน

สำหรับปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2564 ตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เช่น การเจาะตลาดเมืองรอง การจัดแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ โดยเฉพาะตลาดจีนที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนส่งเสริมการขายสินค้าผลไม้ใน 13 เมืองสำคัญ

และขณะเดียวกัน ตลาดอื่นในอาเซียนจะมีการจัดงาน Top Thai Brand ควบคู่ไปกับงาน Mini Thailand Week ในเมืองรองของอาเซียนอีก 8 แห่ง การปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือโควิด-19 ของผู้ประกอบการ และเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยให้เป็นสินค้าปลอดโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าไทยในอนาคต ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ให้ความสำคัญไว้